คลินิกชุมชนอบอุ่น เตรียมระบบ "Home Isolation" รับผลตรวจRapid Antigen Test

11 ก.ค. 2564 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 19:38 น.

สธ. ผนึก คลินิกชุมชนอบอุ่น แก้วิกฤตผู้ป่วยรอเตียง เร่งเตรียมเริ่มระบบ "Home Isolation" และ Community Isolation รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่บ้าน เพิ่มจากการ Rapid Antigen Test

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สธ.ได้หารือและจัดกระบวนการ (Home Isolation : HI) ให้ผู้ติดเชื้อที่อาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้อยู่บ้าน หากไม่ติดขัดที่อยู่หรือการแยกตัว และจะได้รับการดูแลจากทีมสุขภาพปฐมภูมิ ทั้ง "คลินิกชุมชนอบอุ่น" และศูนย์บริการสาธารณสุข

 

ส่วนต่างจังหวัดเป็นทีม 3 หมอ หากมีอาการแย่ลงระบบจะมีช่องทางด่วนเพื่อนำผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล และจ่ายยารักษา ซึ่งจุดนี้เป็นการจัดการสำคัญที่จะทำให้ระบบ HI สำเร็จ รวมไปถึงการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคอยประเมินอาการ ซึ่งจะทำให้จำนวนการรอเตียงลดลง ส่งผลให้มีเตียงว่างในโรงพยาบาล โดยวันที่ (12 ก.ค.) หน่วยบริการบางส่วนจะเริ่มรับผู้ป่วยเข้าระบบ HI ได้  จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ป่วยโควิดทุกคนต้องเข้าสู่โรงพยาบาล 

 

“ระบบ HI นี้ คงไม่ใช้การแก้ไขปัญหาโควิดทั้งหมดได้ แต่เป็นการจัดการเท่าที่ทีมสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยได้ เบื้องต้นคงไม่เห็นผลทันที แต่ศักยภาพจะค่อยๆ ปรากฏ การรอเตียงเชื่อว่าจะชะลอลงในสัปดาห์หน้า” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อเสียของระบบ HI ที่ให้ผู้ติดเชื้อโควิดอยู่บ้าน มี 2 เรื่อง คือ 1.ความเสี่ยงอาการผู้ป่วยที่อยู่บ้านอาจแย่ลงเป็นสีแดงและเสียชีวิต และ 2. การแพร่กระจายเชื้อในชุมชน หากไม่กักตัวหรือแยกตัวได้จริง แต่หากมีการจัดระบบที่ดี ทั้งเครื่องมือที่จำเป็น อาทิ ที่วัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจน และยารักษา รวมถึงอาหารครบ 3 มื้อ พร้อมมีระบบติดตามระหว่างผู้ป่วย คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข จะช่วยลดผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องเข้าสู่โรงพยาบาลและได้ผลที่ดี 

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ได้นำร่องทำระบบ HI โดยมีคนไข้ในระบบ 300 คน

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ได้ทำการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับ ระบบ HI อาทิ 

  • การปลดล็อกหลังการตรวจพบเชื้อจากเดิมที่กำหนดให้ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เป็นการเข้าสู่ระบบ HI แทนในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ (Home Isolation : HI) กำหนดให้บ้านผู้ป่วยเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นให้ถือเป็นสถานพยาบาล
  • การกำหนดให้บริการ HI สามารถเบิกจ่ายได้ โดยให้ถือเป็น “UCEP COVID” 
  • โรงพยาบาลเอกชนและ "คลินิกชุมชนอบอุ่น" ที่ทำ HI มาแล้ว ให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้น

 

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ที่ทราบกันดีขณะนี้จำเป็นแล้วที่ "คลินิกชุมชนอบอุ่น" 204 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ต้องมาช่วยกันให้ผ่านศึกนี้ไปได้ ที่ผ่านมากรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด บทบาทปฐมภูมิไม่ชัดเจน แต่ในวันนี้ระบบบริการปฐมภูมินี้ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุดสุด เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตปลอดภัย

โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้าไม่ถึงโรงพยาบาลและต้องรออยู่ที่บ้าน วันนี้จึงเป็นการมาร่วมเพื่อกอบกู้สถานการณ์ จึงขอให้ทุกคนมาช่วยกัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการปรับกระบวนการทำงานในระบบปฐมภูมิร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อโควิดเข้าถึงบริการและปลอดภัย โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารสุข กรุงเทพมหานคร และ สปสช. ทั้งการอนุมัติให้ใช้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid Antigen Test แทน RT-PCR ที่ปรับใช้เฉพาะตรวจในผู้ติดเชื้อที่มีอการ การจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ด้วยระบบ (Home Isolation : HI) อย่างครบวงจร

 

นอกจากนี้  สปสช. ได้ออกแนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขฯ ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเบิกจ่ายแล้ว โดยเชิญผู้แทนคลินกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. มารับฟังการชี้แจงเพื่อความเข้าใจ ก่อนที่จะเริ่มรับผู้ติดเชื้อโควิดสู่ระบบ HI ที่จะเริ่มในวันที่ (12 ก.ค.)

 

“การจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านรวมถึงการดูแลในชุมชนถือเป็นความเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพราะด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังมีอาการรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ป่วยรอเตียงและเสียชีวิตจำนวนมาก เฉพาะข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. มีผู้ป่วยรอเตียงสะสม 2,468 รายแล้ว ระบบบริการ HI จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้ พร้อมรองรับการขยายตรวจ Rapid Antigen Test ที่จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว