รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
18 กรกฎาคม 2564 ติดเชื้อ 11,397 ราย สะสมระลอกที่สาม 374,523 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 101 ราย เสียชีวิตสะสมระลอกที่สาม 3247 ราย
โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย ยังคงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงมากเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10,000 รายต่อวัน และเสียชีวิตมากกว่า 100 รายต่อวัน เป็นวันที่สองติดต่อกันแล้ว
ข้อเสนอของ ศปก.ศบค. เมื่อวาน ที่จะนำเสนอ
ศบค.ใหญ่ ให้ทำการล็อกดาวน์เข้มงวด (Strict Lockdown)โดยหยุดกิจการและกิจกรรมทุกอย่าง ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น อาหาร ยา วัคซีน สาธารณูปโภค เป็นต้น และให้เข้มงวดการเดินทางข้ามจังหวัดในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจึงเป็นมาตรการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้แล้ว สำหรับการรับมือกับการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด สายพันธุ์เดลตาหรืออินเดียเดิม
แม้จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมาก อย่างที่หลายฝ่ายทราบกันดี ก็ไม่มีทางเลือกแล้วในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ความกังวลเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจนี่เอง จึงทำให้มาตรการมีความเข้มงวดไม่พอ และไม่ทันต่อการรับมือโรคระบาดโควิด จึงมีราคาที่ต้องจ่าย (Price to Pay) เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตมากมายเป็นประวัติการณ์ และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก
แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วยคือ การออกมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบ ให้เกิดความเหมาะสมและพอประคองชีวิตความเป็นอยู่เอาไว้ให้ได้
วันนี้ 18 กรกฎาคม 2564
ติดเชื้อเพิ่ม 11,397 ราย
สะสมระลอกที่สาม 374,523 ราย
สะสมทั้งหมด 403,386 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5726 ราย
สะสม 256,484 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 101 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3247 ราย
สะสมทั้งหมด 3341 ราย
ทั้งนี้ การล็อกดาวน์รอบล่าสุดนั้น จากการติดตามของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันนี้(18 ก.ค.64) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม โดยสรุปประเด็นสำคัญของมาตรการยกระดับล็อกดาวน์
ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็น 13 จังหวัด ( เพิ่มจังหวัด ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา) ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดฉะเชิงเทรา
3. จังหวัดชลบุรี
4. จังหวัดนครปฐม
5. จังหวัดนนทบุรี
6. จังหวัดนราธิวาส
7. จังหวัดปทุมธานี
8. จังหวัดปัตตานี
9. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
10. จังหวัดยะลา
11. จังหวัดสงขลา
12. จังหวัดสมุทรปราการ
13. จังหวัดสมุทรสาคร
จํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ในเขตพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวด เลี่ยง จํากัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พํานัก โดยไม่จําเป็น ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จําเป็น ต่อการดํารงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์
ขยายเวลาเคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน จนถึง 2 สิงหาคม 2564 ( นับจาก 20 ก.ค. 64)
-ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกําหนดฉบับนี้ ใช้บังคับ
สกัดการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กําหนดเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน
ขนส่งสาธารณะ จํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่เกิน 50% ของความจุผู้โดยสาร เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด
ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ ออกคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง ให้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14วัน
ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก งดจัดกิจกรรม
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ ตามข้อ 5 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป