"นพ.ประกิต" เสนอข้อคิด "ให้ความจริงและความเป็นธรรมกับ วัคซีนซิโนแวค"

18 ก.ค. 2564 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 14:16 น.

"ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ" กระตุ้นต่อมคิดคนไทย อย่าด้อยค่า "วัคซีนซิโนแวค" ให้หันกลับไปดู ณ เวลาจริง วัคซีนแรกที่ไทยได้มา และช่วยบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดในช่วงแรกคือ "ซิโนแวค" ระบุวัคซีนทุกชนิด ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่ 100%


ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (2541- 2548) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทวิต ข้อความเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค ที่กำลังถูกสังคมด้อยค่า ภายใต้หัวข้อ "ให้ความจริงและความเป็นธรรมกับวัคซีนซิโนแวค" โดยมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้ 

ผมรู้สึกว่า คนในสังคมไม่น้อย มีอคติกับวัคซีนซิโนแวคมาก อย่างไม่ได้สัดส่วนกับความเป็นจริง ผมของแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ "ให้ความเป็นจริง และความเป็นธรรมกับวัคซีนซิโนแวค" ดังนี้ครับ 

ผมคิดว่าจะไม่เขียนเรื่องวัคซีน โควิด-19 แล้วเชียว เพราะมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากสื่อสารกับสังคมตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เมื่อคืนก็ยังมีคนโทรมาปรึกษา ว่าจะได้รับการฉีดวัคชีนชิโนแวคควรจะไปฉีดหรือ "ควรรอวัคซีนที่ดีกว่านี้" ผมจึงขอแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ "ให้ความจริง และความเป็นธรรมกับวัคซีนซิโนแวค" รวมทั้งให้ความสบายใจกับคนที่ได้รับการฉีด หรือกำลังจะได้รับการชิโนแวคในอนาคต

ผมเป็นแพทย์โรคทางเดินหายใจ แต่ด้วยอายุมาก จึงไม่ได้เป็นแพทย์ "ด่านหน้า" ในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 แต่ผมก็ติดตามการทำงานงานของลูกศิษย์ โดยเฉพาะหมอทางโรคปอดด้วยความเป็นห่วง เพราะลำบากสาหัสทั้งคนไข้ และทีมแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักในไอซียู

ในภาวะวิกฤตที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ผมพยายามช่วยสิ่งที่จะลดจำนวนคนไข้ที่จะติด โควิด-19 ด้วยการเชียร์ให้คนไปฉีดวัคซีน ผมเองได้รับการฉีดแอสตราเซเนกาเมื่อปลายเดือน มี.ค.ตามเกณฑ์สำหรับคนอายุมากกว่า 60 ปี ผมรู้สึกว่า คนในสังคมไม่น้อย มีอคติกับวัคซีนชิโนแวคมาก อย่างไม่ได้สัดส่วนกับความเป็น
จริง ถึงขนาดบอกว่าเป็นวัคซีนประสิทธิภาพต่ำไม่อยากรับ คนได้รับแล้วก็เสียดายที่ได้วัคซีนนี้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่าจนถึง วันที่ 10 ก.ค. มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนชิโนแวคไปแล้ว เกือบ 700,000 ราย มีคนที่ติดเชื้อ โควิด-19 รวม 880 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 ราย
- 5 รายยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
- 1 รายได้รับการฉีดซิโนแวค 1 เข็ม
- 1 รายที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม

นั่นหมายความว่า เสียชีวิต 1 ราย จากจำนวนคนที่ได้รับการฉีดครบ 2 เข็ม เกือบ 7 แสนคน

นพ.โสภณ ยังให้ข้อมูลที่เปิดเผยโดยศูนย์ควบคุมโรค CDC สหรัฐอเมริกาว่า จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 มีคนอเมริกาที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เสียชีวิต 750 ราย โดยที่อเมริกาใช้แต่วัคซีน mRNA เกือบทั้งหมด นั่นคือ คนที่ฉีดซิโนแวคหรือคนที่ฉีดวัคซีน mRNA ก็มีการเสียชีวิตเหมือนกัน

ที่สรุปกันตอนนี้คือ วัคซีนทุกชนิด ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต แม้ว่าจะไม่ 100% และวัคซีนซิโนแวคจะป้องกันการติดเชื้อ/แพร่เชื้อได้น้อยกว่าวัคซีนที่ทำด้วยเทคนิคแบบใหม่

จะไม่พูดถึงการเมืองเรื่องการจัดหาวัคซีน เพราะมีคนพูดกันมากอยู่แล้ว แต่อยากให้ลองคิดว่า หากในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากประเทศไทยไม่ได้มีวัคซีนซิโนแวค ฉีดให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนอื่นๆ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรทาง การแพทย์รวมทั้งประชากรกลุ่มอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร จะมีคนตายมากกว่านี้อีกเท่าไร

ลองคิดดูว่า วัคซีนที่เราจะมีโอกาสได้มาใช้ในจำนวนที่มากพอและเร็วที่สุด คือ แอสตราเซเนกา เราหามาได้เร็วและมากเท่าซิ โนแวคที่เราใช้ไปแล้วหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงว่าวัคซีนพวก mRNA เราจะได้มาเมื่อไร และเท่าไร

เราจึงควรให้ความยุติธรรม และยอมรับคุณค่ากับสิ่งที่วัคซีนซิโนแวค ได้ทำประโยชน์แก่สังคมไทยส่วนรวมไปแล้ว ในสภาพการณ์และสถานการณ์จริงในช่วงเวลานั้น ๆ

ส่วนเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคเปลี่ยนไป เชื้อโรคมีการกลายพันธุ์ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเปลี่ยนไป วัคซีนที่เหมาะสมในสถานการณ์ใหม่ จะเป็นตัวไหนอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องว่ากันไปตามเหตุและผล เพื่อแสดงถึงวุฒิภาวะของสังคมไทยว่า เราใช้สติ ไม่ใช่เพียงอคติ ในการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ประกิต วาทีสาธกกิจ
18 กรกฎาคม 2564