อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง "อนุทิน"

18 ก.ค. 2564 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 17:26 น.

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงไทม์ไลน์จัดหาวัคซีนแอสตร้าฯพร้อมคลี่ปมจดหมายแอสตร้าฯ ส่งถึง "อนุทิน" ระบุกำหนดส่งวัคซีนเข้าโรงงาน มิ.ย. แต่สามารถส่งได้ล่วงหน้าตั้งแต่ ก.พ. เผยตัวเลข 3 ล้านโดสมาจากการประชุมไม่เป็นทางการ เมื่อ ก.ย.63 ยืนยันตัวเลขเป็นทางการอยู่ที่ 10 ล้านโดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงกรณีเจรจากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผ่านระบบออนไลน์ ว่า กรณีที่มีจดหมาย ส่งถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นจดหมายชอบคุณรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทำให้บริษัทฯ สามารถผลิตวัคซีนส่งออกไปได้ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน รวม 8 ประเทศ รวมทั้งยังมีการรายงานอีกด้วยว่า บริษัทฯ มีกำหนดการจัดส่งวัคซีนให้กับไทยในเดือน มิ.ย.2564 แต่บริษัท แอสตร้าฯ สามารถจัดส่งได้ล่วงตั้งแต่เดือน ก.พ.2564

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

ส่วนกรณีที่ระบุว่า แอสตร้าฯ จะส่งมอบวัคซีนให้ 3 ล้านโดสนั้น ในหนังสือได้อ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยในเดือน ก.ย. 2563 ตอนนั้นมีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลตอนนั้นแจ้งว่า ฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ความเป็นจริง กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการ ว่าจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส ซึ่งในความเป็นจริง ที่กรมควบคุมโรคแจ้งอย่างเป็นทางการกับแอสตร้าฯ คือเรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส หากมีวัคซีนเพียงพอ ดังนั้น ข้อมูลที่ว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้เราได้เท่าไหร่ มีสองส่วนคือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิตของเขา ซึ่งสองส่วนนี้ต้องเชื่อมต่อกันและเป็นการส่งวัคซีนจริง

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

สำหรับรายละเอียดการส่งวัคซีน ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมกมาารอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 ระบุว่า วันที่ 28 ก.พ.ได้จำนวน 117,300 โดส วันที่ 28 พ.ค. ได้จำนวน 242,100 โดส วันที่ 4 มิ.ย.ได้จำนวน 1,787,100 โดส วันที่ 16 มิ.ย. ได้จำนวน 610,000 โดส วันที่ 18 มิ.ย. ได้จำนวน 970,000 โดส วันที่ 23 มิ.ย. ได้จำนวน 593,300 โดส วันที่ 25 มิ.ย. ได้จำนวน 323,600 โดส วันที่ 30 มิ.ย. ได้จำนวน 846,000 โดส วันที่ 3 ก.ค. ได้จำนวน 590,000 โดส วันที่ 9 ก.ค. ได้จำนวน 555,400 โดส วันที่ 12 ก.ค. ได้จำนวน 1,053,000 โดส และวันที่ 16 ก.ค. ได้จำนวน 505,700 โดส รวมทั้งสิ้น 8,193,500 โดส

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

 

สำหรับไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น เริ่มตั้งแต่พบโควิดในจีน โดยไทยพบนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอู่ฮั่นในเดือน ม.ค.2563 ต่อมาการระบาดเพิ่มขึ้นจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 25 มี.ค.2563 จากนั้นคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผน blueprint การเข้าถึงวัคซีนในวันที่ 22 เม.ย.2563 เห็นได้ว่าเราดำเนินการเรื่องนี้มาปีก่อน ตั้งแต่การระบาดแรกๆ ตอน เม.ย.2563 ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

ต่อมาวันที่ 24 ส.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้เรามีแหล่งผลิตในประเทศไทย จากนั้นวันที่ 23 ก.ย.2563 คณะกรรมการการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

วันที่ 9 ต.ค.2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินฯ วันที่ 17 พ.ย.2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า 26 ล้านโดส จากนั้น 27 พ.ย.2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล คือ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค และวันที่ 5 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

กระทั่งวันที่ 20 ม.ค.2564 อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ.2564 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 2 มี.ค.2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงิน ซึ่งกรมควบคุมโรคก็มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยประสานกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย จากนั้นวันที่ 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย

ดูไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนจะเห็นว่า เราได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและใช้เวลาพอสมควร และการลงนามสัญญาการจองวัคซีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2563 ซึ่งตอนนั้นการผลิตวัคซีนยังไม่สามารถทำได้แม้แต่ขวดเดียว ดังนั้นในการทำสัญญาจองล่วงหน้าคงไม่สามารถระบุได้ว่าเดือนไหนจะสามารถส่งวัคซีนจำนวนมากน้อยเท่าใด และเมื่อไร 

"สิ่งที่สัญญาจะระบุไว้ คือ จะมีการแจ้งเป็นรายเดือน ว่าเราต้องการวัคซีนเท่าใด ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ส่งหนังสือแจ้งบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าไปล่วงหน้าเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564 ล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนการจัดส่งที่ได้ตกลงกันไว้ในช่วงเดือน มิ.ย.2564 โดยในสัญญาเราระบุว่า ในเดือน มิ.ย.2564 เราต้องการ จำนวน 6 ล้านโดส เดือน ก.ค.-พ.ย.2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือน ธ.ค.2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวมทั้งสิ้น 61 ล้านโดส อย่างที่ได้นำเรียนไป การจะได้รับวัคซีน ต้องดูกำลังการผลิตด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราขอไป ไม่ได้แปลว่าเราจะได้ 100% ตามที่ขอ ในการส่งมอบจะต้องเป็นการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย" นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปมจดหมาย แอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง \"อนุทิน\"

ส่วนภายในสัญญาที่ปรากฏจำนวนการส่งออกไปต่างประเทศ ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้แจ้งเราในสัดส่วนตอนทำสัญญา แต่ในสัญญาระบุว่า หากต้องส่งออกไปต่างประเทศ ขอให้ไทยสนับสนุน ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร

จดหมายดังกล่าวอ้างอิงมาจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ที่มีการสอบถามว่าประเทศไทยเรามีความสามารถในการฉีดวัคซีนเท่าใด ขณะนั้นเรามีข้อมูลเพียงจะฉีดได้วันละประมาณ 3 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการระบุตัวเลข 3 ล้านโดสในสัญญาดังกล่าว ซึ่งทางกรมควบคุมโรคยังไม่บอกอย่างเป็นทางการว่าเราจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส แต่ที่ผ่านมาเราได้มีตัวเลขประมาณการ และได้ทำหนังสือแจ้งบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าไปอีกครั้งแล้วว่า เรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส ถ้ามีวัคซีนเพียงพอ อย่างไรก็ตามการจะจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น จะต้องดูทั้งความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิตของเขา ซึ่งสองส่วนนี้ต้องเชื่อมต่อกันและเป็นการส่งวัคซีนจริง การจะได้ตามที่ขอ 100% อาจมีความผันแปรได้

อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้า ยังส่งวัคซีนให้กับไทยต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีความพยายามผลิตให้ได้มากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังผลิตเท่าที่คำนวณอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นหากคิด 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต เราคาดว่าจะได้ 5 ล้านโดสต่อเดือน แต่ก็ต้องมีการเจรจา เพราะเรายืนยันว่า อย่างไรเสีย 61 ล้านโดส หากเป็นไปได้ต้องได้ในเดือน ธ.ค.2564 ซึ่งก็ต้องมีการเจรจารายเดือนต่อไป ส่วนที่มีข่าวว่า จะขยาย พ.ค.65 ก็ต้องเจรจาต่อไป แต่แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยระบุกรณีนี้

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า แอสตร้าเซนเนก้า เคยแนะนำให้ไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์หรือไม่นั้น นก.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้มีคณะกรรมการระดับกระทรวงพจารณา จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบคราวหน้า