"ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร" หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศิริราช ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวในประเด็น เมื่อผู้ป่วย COVID ล้นระบบสุขภาพ และบทเรียนจากประเทศอื่น
โดยระบุว่า เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ทำให้นึกถึงประเทศอื่นที่เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน มีการพูดคุยระหว่างเพื่อนพี่น้องว่า บ้านเราจะเลวร้ายได้ที่สุดแค่ไหนกัน หลายคนเอ่ยกันสั้น ๆ แบบเข้าใจกันดีว่า Italy model บ้าง, New York model บ้าง บางคนพูดไปไกลถึง India model ด้วยซ้ำ ใจจริงแม้จะยังมั่นใจว่า สถานการณ์ของเราไม่ควรไปถึงขั้นนั้น แต่อดคิดไม่ได้เหมือนกัน และอย่างน้อยถ้าเราเตรียมตัวเตรียมใจ วางแผนรับสถานการณ์แบบนั้นไว้บ้างก็เป็นเรื่องดี
ศ.นพ.มานพ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ New York City (NYC) ซึ่งเป็น epicenter ของการระบาดโลกในช่วงเมษายนปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่โถมเข้ามาในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ NYC ซึ่งมีขนาดประชากรใกล้เคียง กทม และปริมณฑล ต้องเผชิญผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ถึงวันละ 4,000-6,000 คน มากกว่าสถานการณ์ใน กทม. ราว 2-3 เท่า โรงพยาบาลแทบทุกแห่งใน NYC มีคนไข้ล้นจนต้องเปลี่ยนล็อบของโรงพยาบาลเป็น ward เพิ่มเติม
นอกเหนือจากการตั้งโรงพยาบาลสนามที่ Jarvits Center และที่อื่น ๆ ผู้ว่าการรัฐต้องประกาศให้แพทย์พยาบาลจบใหม่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องสอบ เพื่อให้มีแพทย์พยาบาลช่วยทำงานเพิ่มขึ้น http://www.op.nysed.gov/COVID-19_EO.html มีการระดมแพทย์และพยาบาลเกษียณกลับมาช่วยทำงาน ติดต่อขอเครื่องช่วยหายใจจากรัฐบาลกลาง รวมทั้งการระดมขอบริจาคจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีการตั้งห้องดับจิตชั่วคราวในสวนสาธารณะ ฯลฯ https://time.com/5812569/covid-19-new-york-morgues/ จนเวลาผ่านไป 2-3 เดือนการระบาดจึงควบคุมได้
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ในช่วงนั้นองค์ความรู้ของโรคและการรักษาโรคยังไม่มากนัก อัตราผู้เสียชีวิต (case fatality rate: CFR) สูงมากถึง 9.2% https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6946a2.htm แม้ว่า CFR ของการระบาดระลอกนี้ของบ้านเรายังเพิ่มขึ้นกว่ารอบก่อนหลายเท่า แต่ยังไม่เกิน 1% อย่างไรก็ดี ถ้ามองไปเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่สถานการณ์หนักหน่วงกว่าเรา ตอนนี้ CFR ของเขาใกล้เคียง 2% เต็มที หมายความว่าเราอาจยังมีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตสูงขึ้นได้อีก
NYC ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาก่อนประเทศไทย ตอนนี้เปิดเมืองกลับมาใช้ชีวิตแทบจะเป็นปกติ ในขณะที่บ้านเราตกอยู่ใน สถานการณ์แบบเขา ทั้งที่เวลาต่างกันถึง 1 ปี และแทบทุกอย่างเป็น avoidable problems … avoidable death, avoidable morbidity, avoidable burnout, avoidable system crisis, etc.
ทุกคนได้แต่หวังว่า เราจะผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ในที่สุด เมื่อถึงจุดนั้นทุกคนคงต้องกลับมามองอย่างจริงจังแล้วว่า สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร