เมื่อวานที่ผ่านมา (22 ก.ค.) มีการประชุมหารือระหว่างรัฐบาลโดยมี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ เรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกไทยคู่ฟ้า
40 ซีอีโอ ที่เข้าร่วมมาจากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย เช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มธนาคาร-ประกันภัย กลุ่มธุรกิจไอที-เทคโนโลยี กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มธุรกิจส่งออก
ในนาม 40 ซีอีโอพลัส ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไว้ 4 ประเด็นหลัก
1. การควบคุมการแพร่ระบาด
2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน
3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ
4 การฟื้นฟูประเทศไทย
การประชุมบรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง เปิดใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นเรื่องแรกก็คือเรื่องการจัดหา “วัคซีนโควิด”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกกับฐานเศรษฐกิจว่า ได้มีการแจ้งรัฐบาลว่าเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งภาคเอกชนด้วย รัฐบาลจะต้องชัดเจน โปร่งใส ต้องบอกประชาชนให้รู้ว่าตอนนี้มีวัคซีนจำนวนเท่าไหร่กันแน่ และปีนี้คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสได้อย่างไรบ้าง
นายกฯ ก็ได้มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอธิบายเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ว่า ไทยเหมือนรับจ้างผลิตแอสตร้าเซนเนก้า แล้วทางแอสตร้าเซนเนก้าก็วางแผนจัดสรรวัคซีนให้ 10 กว่าประเทศ ซึ่งกำลังการผลิตทำได้ 180 ล้านโดสต่อปี และไทยได้ส่วนแบ่งวัคซีน 30 เปอร์เซ็น ก็หมายความว่าเดือน ก.ค. นี้ เราจะได้วัคซีน 5 ล้านโดสแทนที่จะได้ 10 ล้านโดส
นอกจากนี้จะมีวัคซีนที่รัฐบาลพยายามหาเพิ่มเติม เช่น เดือนนี้จะได้รับการการบริจาคจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส มีสหรัฐอเมริกาอเมริกาบริจาคไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส และไทยก็เพิ่งมีการทำสัญญากับไฟเซอร์ 20 โดส โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการแต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องการจัดหา
“นายกฯ ฝาก 40 ซีอีโอ ที่ได้ประชุมว่านักธรุกิจมีความสัมพันธ์กับซับพลายเออร์ก็ลองช่วยเจรจาจัดหาวัคซีนด้วย ถ้าได้ก็มาบอกรัฐบาล รัฐบาลก็จะดำเนินการจัดซื้อกับรายนั้น คือทุกทางต้องช่วยกัน โรคระบาดไปทั่วโลก แย่งซื้อวัคซีน”
ข้อเสนอของ 40 ซีอีโอ นายกฯ รับฟังและบอกว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาล เรื่องไหนที่เสมอมาถ้ารัฐบาลทำได้จะทำเลย แต่ถ้าเรื่องไหนยังติดเงื่อนไขต่างๆ ก็จะได้มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกว่าจะทำอย่างไร
ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสภาพัฒน์ฯ เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งทีมงานของภาครัฐให้มาร่วมกับ 40 ซีอีโอ ทำงานร่วมกันตั้งแต่วันนี้ (22 ก.ค) เป็นต้นไป และ 1 ในข้อเสนอที่ นายกฯ ให้ความสนใจและบอกว่ามีประโยชน์ก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย Digital Transformation ที่เสนอให้มี Super App. ช่วยอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ