6 ข้ออย่าหาทำช่วงโควิด-19 หมอธีระวัฒน์เตือนหนุ่มสาวอย่าทนงตัวว่าแข็งแรง

23 ก.ค. 2564 | 01:18 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 14:00 น.

หมอธีระวัฒน์เตือน 6 ข้ออย่าทำช่วงโควิด-19 ระบาด ชี้คนหนุ่มสาวต้องไม่ทนงตัวว่าแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวจะไม่เป็นไร ระบุการติดเชื้อแล้วใช่ว่าจะรักษาได้โดยง่าย และต้องไม่คิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า 
“6 อย่า” ช่วงโควิด รักษาตัวให้แข็งแรงเท่ากับช่วยประเทศ
1.อย่าทนงตนว่าเป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร
นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้
2.อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการจะรักษาง่ายๆ
กลไกของการติดเชื้อเมื่อเข้าร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวน และถ้าหยุดยั้งไม่ได้หรือไม่ทันเชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสอื่นๆ จากผลของการอักเสบจะกระทบทุกอวัยวะในร่างกาย และทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ทั่วไปด้วย

3.อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ
เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบ ซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกันและปอดอักเสบที่เห็นนั้น จะกลายเป็นทั้งจากไวรัสและแบคทีเรียซ้ำซ้อน
4.อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว
ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตามยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้
5.อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
สถานที่ดังกล่าวและยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคน โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น เชื้อที่อยู่กับละอองฝอยจะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน และแม้เมื่อตกพื้นไปแล้วการเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)อย่านิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้

6.โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อและการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้น นอกจากนั้น โรคประจำตัวหลายชนิดจะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจากโควิด-19 เอง และโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น
ทั้งนี้ ต้องรักษาตัวให้แข็งแรง คุมโรคประจำตัวให้หมดจดที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง 
“ช่วยตัวเองได้ = ช่วยคนไทยทั้งประเทศ”
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 23 กรกฏาคม 64 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 14,575  ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,503 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,072 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 438,844 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 114 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,775 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 292,726 ราย

สถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย