หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” กับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ไปแล้วเมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 2564) และจะนำเข้าวัคซีนลอตแรกจำนวน 5 ล้านโดส กลายเป็นความหวังของคนไทยที่จะได้ฉีดวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี
แต่ก็ดีใจได้วันเดียว เมื่อโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งออกประกาศคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้ที่สั่งจองวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้รับการจัดสรรโควตาวัคซีนโมเดอร์นา ตามที่ร้องขอไปกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
รพ. เอกชน ทยอยคืนเงินมัดจำ
โดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ชี้แจงว่า เนื่องจากทาง รพ.ได้รับการจัดสรรวัคซีน Moderna มาน้อยกว่าจำนวนที่สั่งจองไปกับทางองค์การเภสัชกรรม การจัดสรรวัคซีน Moderna นี้ทาง รพ.ไม่มีสิทธิโต้แย้งใดๆ เนื่องจากเป็นมติของสมาคมรพ.เอกชน
ซึ่งมีหลาย รพ.ที่โดนตัดโควตาไปและได้รับจัดสรรมาน้อยกว่าจำนวนที่สั่งจองไปเช่นกันน่ะค่ะ ทาง รพ.สั่งจองไป 20,000 โดสพอสำหรับทุกท่านแต่ได้รับจัดสรรมาเพียง 13,140 โดส จากทางสมาคม รพ.เอกชนซึ่งเป็นคนตัดสินว่าแต่ละโรงพยาบาลจะได้รับจำนวนวัคซีนเท่าไหร่
(มี 277 รพ.ที่เข้าร่วม ทุก รพ.ที่มียอดจองเกิน 10,000 โดสโดนตัดจำนวนวัคซีนที่จะได้ลดลงทุกโรง)
จอง 9.23 ล้านโดส แต่ได้จัดสรรจริง 3.9 ล้านโดส
ขณะที่ตัวเลขนำเข้าวัคซีนจำนวน 5 ล้านโดสในไตรมาส 4 ของปีนี้นั้น แท้จริงสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นสมาชิกจำนวน 277 โรงพยาบาลนั้น มีการสั่งจองเข้ามาทั้งสิ้น 9,236,680 โดส (ตัวเลขวันสุดท้ายของสั่งจอง 28 มิ.ย. 2564) แต่ ณ วันที่ 23 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลเอกชนได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 3.9 ล้านโดสเท่านั้น
ส่วนอีก 1.1 ล้านโดส ต้องจัดสรรให้กับสภากาชาดไทย 1 ล้านโดส โรงพยาบาลรามาธิบดี 5 หมื่นโดส และโรงพยาบาลศิริราช 5 หมื่นโดส
ทำให้โควตาของโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้จองวัคซีนและได้รับวัคซีนจริงไม่ถึง 30% ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองวัคซีน จึงไม่สามารถจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่จองวัคซีนไว้ได้ รวมถึงในไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จะมีวัคซีนเข้ามาอีกราว 1 ล้านโดส
รพ.ดัง ปิดรับจองอ้างระบบขัดข้อง
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา แม้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังทยอยเปิดให้จองวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” แต่ก็พบว่า โรงพยาบาลบางแห่งหยุดให้จองและชำระเงินค่ามัดจำวัคซีนทันที โดยอ้างเหตุว่า ระบบการลงทะเบียนขัดข้อง ซึ่งในความเป็นจริงคือได้รับการยืนยันแล้วว่า วัคซีนที่ได้รับการจัดสรร จะมีจำนวนราว 60% ของวัคซีนจริงที่ยื่นจองไว้
ปรับแผนจัดสรร 3 รอบ
แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดสรรวัคซีนโควต้าให้กับโรงพยาบาลเอกชนมีการจัดสรรทั้งหมด 3 รอบ รอบแรก คือเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง แจ้งความจำนงตัวเลขวัคซีนที่ต้องการเข้าไป
แต่เมื่อองค์การเภสัชกรรมขยายระยะเวลาในการสั่งจองวัคซีน สมาคมจึงแจ้งขยายเวลาในการเปิดจองวัคซีนออกไปอีกครั้งจนถึงวันที่ 28 มิ.ย. 64 ทำให้ตัวเลขการจองวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประชาชนพุ่งสูงถึง 9,236,680 โดส
ต่อมาเมื่อสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แจ้งว่าวัคซีนโมเดอร์นาในลอตแรกจะได้รับจำนวน 5 ล้านโดส จะต้องจัดสรรให้กับสภากาชาดไทยที่ยื่นสั่งซื้อกับองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย 1 ล้านโดส จึงมีการจัดสรรโควตากันใหม่
ล่าสุดสภากาชาดไทยได้สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเพิ่มอีก 5 ล้านโดส โดยตรงกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด โดยไม่ผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะมีการส่งมอบภายในปี 2565
การจัดสรรรอบ 2 จึงต้องนำวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 4 ล้านโดส มาจัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 277 โรงพยาบาล โดยคิดสัดส่วนตามเปอร์เซ็นต์ในการสั่งซื้อ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่มีปริมาณการจองไม่สูงมากจะได้สัดส่วนค่อนข้างมากเฉลี่ย 80% ขณะที่เครือโรงพยาบาลใหญ่ จะได้ไม่มาก
สอดคล้องกับที่นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพเครือโรงพยาบาลธนบุรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยจำนวนวัคซีนที่มีจำกัด ในลอตแรกที่นำเข้ามา จึงต้องจัดสรรแบ่งกัน
“เครือโรงพยาบาลธนบุรีสั่งจองไว้ 2 ล้านโดส จะได้รับวัคซีนลอตแรก 8 แสนโดสเท่านั้น ซึ่งเราก็ยอมรับ เพราะต้องจัดสรรให้โรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆด้วย”
ส่วนการจัดสรรรอบ 3 นี้ “แหล่งข่าว” ระบุว่า เกิดจากการที่มีโรงพยาบาลของรัฐยื่นขอความจำนงในการจองวัคซีนเข้ามาอีก 2 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลรามาธิบดีและศิริราช ซึ่งต้องการนำวัคซีนไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าและมีความเสี่ยงสูง ทั้งสองโรงพยาบาลจึงได้รับการจัดสรรควัคซีนโมเดอร์นาโรงพยาบาลละ 50,000 โดส
ทำให้จำนวนวัคซีนโมเดอร์นา ที่โรงพยาบาลเอกชนจัดสรรไว้เดิมลดลง และต้องมีการจัดสรรใหม่อีกรอบ
จนที่สุดวัคซีนโมเดอร์นาลอตแรกที่จะได้รับ 3.9 ล้านโดส จึงไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนจองไว้ และคาดว่าอีก 1 ล้านโดสที่จะเข้ามาในไตรมาส 1 ปี 2565 ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจึงตัดสินใจคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้ที่จองไว้
ขณะที่ วัคซีนโมเดอร์นาในลอตถัดไป ที่คาดว่าจะสั่งซื้อเพื่อนำเข้ามาในไตรมาส 2 ปี 2565 นั้น อาจจะไม่ใช่วัคซีนโมเดอร์นาชนิดเดิม เพราะปัจจุบันโมเดอร์นา อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนโควิด เจนเนอเรชั่น 2 ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานได้สูงขึ้น การจะเปิดให้จองหรือสั่งซื้อจึงต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง
ปัญหาวัคซีนในประเทศไทย ทั้งวัคซีนหลัก วัคซีนทางเลือก จึงยังไม่จบง่าย ...