รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
งานวิจัยเบื้องต้น พบว่าผู้ฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็มแล้ว เมื่อได้รับการกระตุ้นเข็มสามเป็น AstraZeneca ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าเดิม 130 เท่า
จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามในขณะนี้ จะพบปรากฏการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
เหตุเกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูง และมีปริมาณไวรัสอยู่ในตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก (บางรายงานกล่าวว่า พบไวรัสมากขึ้นถึง 1000 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดิม)
การปฎิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากที่เคยเสี่ยงต่อผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิม เมื่อมาดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่
จากที่เคยฉีดวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย (Sinovac 2 เข็ม) หรือไวรัสเป็นพาหะ (AstraZeneca 2 เข็ม) สามารถจะรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เดิมได้ดี
แต่เมื่อพบกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่เดลต้า ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น
จึงได้มีแนวคิด ตลอดจนมาตรการที่จะทำการดูแลปกป้องบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่สัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิดโดยตรง
ว่าคงจะต้องฉีดกระตุ้นเข็มสาม ให้กับบุคลากรที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ ฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็มเป็นหลัก
เพื่อให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ บุคลากรไม่ติดเชื้อเองไปเสียก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับการดูแลผู้ป่วยโดยตรง เพราะบุคลากรจะลดลง เนื่องจากต้องไปกักตัวหรือเสียชีวิตไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
จึงมีคำถามสำคัญว่า กลุ่มบุคลากรเกือบทั้งหมด ที่ฉีด Sinovac 2 เข็มแล้ว ควรฉีดกระตุ้นเข็มสามด้วยวัคซีนอะไรดี ระหว่างวัคซีนไวรัสเป็นพาหะคือ AstraZeneca กับวัคซีน mRNA คือ Pfizer เนื่องจากในประเทศไทย ยังไม่มีวัคซีนไฟเซอร์ใช้เป็นกิจลักษณะ การวิจัยเก็บข้อมูล จึงทำได้เฉพาะกลุ่มของ AstraZeneca เป็นหลัก
ศาสตราจารย์ นพ. ยง ภู่วรวรรณ จากศูนย์วิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พยายามรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ขณะนี้มีจำนวนตัวอย่างหลักหลายสิบจนถึงหลักร้อยคน และคงจะรวบรวมต่อ ไปเพื่อให้จำนวนตัวเลขเพิ่มมากขึ้นอีก พบว่า
1.ระดับภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดโควิดโดยธรรมชาติและหายดีแล้ว มีภูมิคุ้มกันสูงประมาณ 60 หน่วย (60.86 U/mL 263 ตัวอย่าง)
2.กลุ่มที่ฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้นประมาณ 100 หน่วย ( 96.91 U/mL 272 ตัวอย่าง)
3.กลุ่มที่ฉีดวัคซีน Astra สองเข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 900 หน่วย (933.78 U/mL 19 ตัวอย่าง)
4.กลุ่มที่ฉีดเข็มแรก Sinovac ตามด้วยเข็มสอง Astra ห่างกันสามสัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 700 หน่วย ( 687.8 U/mL 75 ตัวอย่าง)
5.กลุ่มที่ฉีดไฟเซอร์ทั้ง 2 เข็ม ห่างกันสามสัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 1700 หน่วย (1666 U/mL 85 ตัวอย่าง)
6.กลุ่มที่ฉีด Sinovac สองเข็มแรกแล้วกระตุ้นด้วย Astra ภูมิคุ้มกันขึ้น 13,000 หน่วย (12,742 U/mL 62 ตัวอย่าง)
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายหรือ Sinovac สองเข็ม จะมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าฉีดวัคซีนไวรัสเป็นพาหะหรือ Astra สองเข็มอยู่ประมาณเก้าเท่า
แต่ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายสองเข็ม ถ้ากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะเป็นเข็มที่สาม ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงไปถึง 130 เท่า ( 13,000 หน่วย)
จึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นส่วนแรก ที่จะสนับสนุนมาตรการหรือแนวคิดที่จะฉีดกระตุ้นเข็มสาม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
โดยวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้คือ Astra จะสามารถกระตุ้น ภูมิคุ้มกันได้ดีมากตามข้อมูลที่ปรากฏแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากการบริจาคเข้ามา 1.5 ล้านโดส ก็คงจะมีข้อมูลต่อไปว่า ถ้าฉีด Sinovac สองเข็ม ส่วนเข็มที่สามกระตุ้นด้วย Pfizer ภูมิคุ้มกันจะขึ้นมากน้อยเพียงใด
ก็เป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่จะได้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อปกป้องในการปฎิบัติหน้าที่เสี่ยง ที่จะต้องสัมผัสดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในขณะนี้
และในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆที่อายุมากกว่า 60 ปีหรือมีโรคประจำตัวเจ็ดกลุ่มโรค ก็คงจะอยู่ในลำดับ ที่จะพิจารณาเรื่องวัคซีนกระตุ้นเข็มสามต่อไป
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น จากการรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.พ.-24 ก.ค.64 "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 15,869,844 โดส โดยแบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 12,226,845 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,642,999 ราย