รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
ชุดตรวจแอนติเจนของเชื้อ (Antigen Test Kit, ATK)
ข้อดี
- ใช้เวลาไม่นาน ช่วยลดการรอคอยการตรวจพันธุกรรมของเชื้อ (RT-PCR)
- ถ้าชุดตรวจมีคุณภาพและตรวจได้ถูกต้อง มีผลบวกลวง (false positive) คือไม่มีเชื้อแต่ตรวจ ATK ได้ผลบวก น้อยมาก คือถ้าตรวจได้ผลบวก โอกาสเป็นโควิด-19 สูงมาก
- ถ้าตรวจได้ผลบวก ช่วยแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วยได้เร็ว ทำให้ลดการกระจายเชื้อ
ข้อเสีย
- ถึงชุดตรวจมีคุณภาพและตรวจได้ถูกต้อง ยังมีผลลบลวง (false negative) คือมีเชื้อแต่ตรวจ ATK ได้ผลลบ ค่อนข้างมากโดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มีอาการ ถ้าชุดตรวจไม่ได้คุณภาพและตรวจไม่ถูกต้อง ยิ่งมีโดยโอกาสได้ผลลบลวงมากขึ้น
- ผู้ที่ตรวจได้ผลลบอาจชะล่าใจคิดว่าตัวเองไม่มีเชื้อโรค ทำให้ยิ่งแพร่กระจายเชื้อ
ปัญหาสำหรับผู้ที่ตรวจ ATK ได้ผลบวก
- พบผู้ป่วยมากขึ้น แต่ระบบรองรับหลังจากที่ได้ผลบวกไม่พอ
- ผู้ทีไม่มีอาการหรืออาการน้อย ใช้ผลตรวจ ATK เป็นบวก เข้าระบบแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ได้เลย แต่ถ้าอยู่บ้านไม่ได้ต้องแยกตัวในชุมชน (community isolation) ก็ต้องตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันก่อน เป็นปัญหาให้การแยกตัวได้ล่าช้าไปอีก แล้วยังต้องให้ไปตระเวณหาตรวจ RT-PCR ให้แพร่กระจายเชื้อในที่ตรวจอีก
- ถ้ามีอาการมากหรือรุนแรง ตอนนี้ต้องให้มีการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยัน ทำให้ยังเป็นคอขวดในระบบบริการ เพราะหาที่ตรวจ RT-PCR ไม่ได้หรือกว่าจะได้ก็ใช้เวลาหลายวัน รอผลอีก ได้ผลบวกแล้วก็ต้องรอเตียงอีก เป็นปัญหาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าไปอีก แล้วยังต้องให้ไปตระเวณหาตรวจ RT-PCR ให้แพร่กระจายเชื้อในที่ตรวจอีก
ส่วนตัวคิดว่าถ้าผล ATK เป็นบวกแล้ว น่าจะให้การรักษา COVID-19 ไปก่อนเลย ไม่ต้องรอผล RT-PCR รวมถึงถ้ามีอาการมากต้องนอน รพ.ควรให้เข้าระบบคิวของการรักษาไปได้เลย ระหว่างรอเตียงถ้ามีระบบให้ทำ Chest X-ray ระหว่างรอ admit จะดีมาก ๆ แล้วเมื่อได้รับ admit ค่อยมาตรวจ RT-PCR ถ้ากลัวว่าอาจเป็นผลบวกลวง ก็แยกกลุ่มนี้ไว้ในที่พักคอย เหมือนคนไข้ PUI หรือให้สวม PPE ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ผล RT-PCR ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น
บางครั้งในภาวะวิกฤติการระบาดที่รุนแรงแบบนี้ เราอาจต้องยอมรับความเสี่ยงของกลุ่มที่มีผลบวกลวงซึ่งพบน้อยมาก ที่อาจจะถูกให้อยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคแล้วติดโรค ซึ่งน่าจะมีวิธีการป้องกันกลุ่มนี้ด้วย DMHTT ในขณะที่รอผล RT-PCR ในที่แยกตัวหรือใน รพ. รวมทั้งอาจได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น เพื่อรักษาความอยู่รอดของระบบและคนส่วนใหญ่
สำหรับยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 26 กรกฎาคม 64 นั้น จากการติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 15,376 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,335 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,041 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 483,815 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,782 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 314,049 ราย