หุ้นโรงไฟฟ้า สะดุดช่วงสั้น ปรับแผน PDP ใหม่

07 ก.ค. 2562 | 09:08 น.

ปรับแผนพีดีพีใหม่ สะดุดหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าช่วงสั้น   โบรกฯ มองกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และกลุ่มรับเหมาครบวงจร (EPC) ได้ประโยชน์  เลือก BGRIM  อัพไซด์จากโอกาสการลงทุนตปท.  

จากการที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับจัดสรรกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ หลังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) เผยผลการพิจารณาข้อร้องเรียน โดยแนะนำให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณากลับมามีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 51% 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ กล่าวว่า ต้องติดตามท่าทีของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่จะเข้าทำหน้าที่ว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด ซึ่งหากมีท่าทีที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐให้เป็น 51% จริงก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้กลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนที่พึ่งพิงการเติบโตกำลังการผลิตในประเทศเป็นหลักอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากมีการประมูลโรงไฟฟ้าล็อตใหม่ตามแผน PDP2018 เอกชนก็จะเสียส่วนความเป็นเจ้าของไป 51% 

อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเกิดขึ้นจริงก็จะกระทบเฉพาะกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของในโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นใหม่เท่านั้น ไม่มีการนำไปปรับใช้ย้อนหลัง ซึ่งกรณีแย่ที่สุดหากมีการปรับใช้กฎนี้ย้อนหลังก็จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าระยะสั้น เพราะหากประเด็นนี้ถูกนำเข้าพิจารณาโดยรมว.กระทรวงพลังงานคนใหม่จริง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ามีประเด็น Overhang และมีความไม่แน่นอนจากการตัดสินใจดำเนินการของรัฐ

  ทั้งนี้ หากจะเลือกลงทุนในโรงไฟฟ้าและมองหาการเติบโต มองว่าควรหาบริษัทโรงไฟฟ้าที่เน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ แต่ต้องมีความระมัดระวังว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้นก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และบางบริษัทแม้ขยายธุรกิจในต่างประเทศก็ยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากประเด็นคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

หุ้นโรงไฟฟ้า  สะดุดช่วงสั้น  ปรับแผน PDP ใหม่

บล.กสิกรไทยฯ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากกฟผ. อย่างไรก็ตาม หาก กฟผ.ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสตง.ก็จะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือครองในบริษัทจดทะเบียน (RATCH หรือ EGCO) หรือเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นทางใดทางหนึ่ง โดยกรณีของการเพิ่มสัดส่วนการถือครอง มองว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนการถือครองใน RATCH  อยู่ 45% และใน EGCO อยู่ 25%  หรือในกรณีที่ให้กฟผ.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มากกว่า 51% ต่อกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ ทางหน่วยงานจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอย่างน้อย 6.3-11.8 GW ด้วยประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ติดตั้งแล้วทั้งหมดที่ 43.3  GW ในปี 2561 และมีแผนเพิ่มเป็น  60.3 GW ในปี 2572 ขณะที่มี กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วน 36% ต่อกำลังการผลิตทั้งหมด

ดังนั้นโอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากแผน PDP ปี 2561 สำหรับภาคเอกชนจะหายไปทั้งหมด ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ภายในประเทศ (1.4  GW ในปี 2566-2567) ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติให้กับ RATCH  2.กำลังการผลิตส่วนนำเข้าที่ไม่มีการจัดสรร (1.4 GW ในปี 2569-2571) และกำลังการผลิตพลังงาน
ทดแทน (3.9 GW)  

บล.กสิกรไทยฯ แนะเลือกหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และกลุ่มรับเหมาครบวงจร (EPC) ที่มีการขยายกิจการในต่างประเทศ เลือก BGRIM (ราคาเป้าหมาย 36.25 บาท) และ GUNKUL  (ราคาเป้าหมาย 3.36 บาท) เป็นหุ้นเด่น ทั้งนี้ด้วยการที่ SPP  ได้ประโยชน์จากแผนการแทนที่กำลังการผลิตเก่า กำลังอยู่ระหว่างการรออนุมัติ PPA  

 

บล.เคทีไอ (ประเทศไทย)ฯ  ระบุว่า กฟผ.จะเพิ่มสัดส่วนถึง 51% ได้ก็โดยการซื้อหุ้นของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เท่านั้น และถึงแม้กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าให้กฟผ.เพิ่มสัดส่วนถึง 51% จริงก็ไม่กระทบกำไรและมูลค่าหุ้น เพราะยังไม่ได้รวมอัพไซด์จาก PDP ในปี 2561 เข้ามาในการทำประมาณการกำไรและการประเมินมูลค่าหุ้น โดยมองว่าโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะไม่ถูกกระทบ  ซึ่งหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจปรับแผน PDP จะไม่มีการประมูล IRR เพิ่มเพราะกำลังการผลิตใหม่/ทดแทนจะมาจากกฟผ.เท่านั้น ในขณะที่ GULF จะเป็นผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด 

แต่ถึงแม้กระทรวงพลังงานจะไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ แต่โอกาสลงทุนในประเทศก็ยังดูจำกัดอยู่ดี เพราะการประมูล IPP ใหม่จะเกิดขึ้นหลังปี 2573 ซึ่งยังอีกนานมาก มองว่าผู้ประกอบการทุกรายจะมุ่งขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค 

บล.เคจีไอฯ ยังคงให้นํ้าหนักกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ Neutral เลือก BGRIM (ราคาเป้าหมาย 37.00 บาท) เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม เนื่องจากผลประกอบการครึ่งปีแรกและไตรมาส 3 มีแนวโน้มเติบโตน่าสนใจ และยังมีอัพไซด์จากโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ 

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3485 วันที่ 7-10 กรกฎาคม 2562

หุ้นโรงไฟฟ้า  สะดุดช่วงสั้น  ปรับแผน PDP ใหม่