สาหัส 8 แบงก์ กำไรไตรมาส 2 ร่วง 41%

24 ก.ค. 2563 | 00:10 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2563 | 07:13 น.

แบงก์แจงครึ่งปี กำไรรวม 53,318 ล้านบาท ลดลง 21%  เหตุไตรมาส 2 ทรุดหนัก กำไรสุทธิฮวบ 41% เหลือ 20,783 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่สูงถึง 35,212 ล้านบาท “กสิกรไทย” นำโด่งลดฮวบ 78% “ทีเอ็มบี-ซีไอเอ็มบีไทย” กอดคอรอด ลุ้น“บัวหลวง-กรุงศรี” 2 รายใหญ่ 

ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการประจำงวดไตรมาส 2 และครึ่งปี 2563 แล้ว 8 รายพบว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะมีกำไรไตรมาส 2 ลดลงถึง 42.0-52.2% ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากธุรกิจหลักลดลง ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ(เอ็นพีแอล) เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของคุณภาพสินเชื่อในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า

ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่อ่อนแอต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 มีผลกระทบมากขึ้นต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งจะรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เต็มไตรมาส ขณะที่ภารกิจสำคัญเร่งด่วนของธนาคารช่วงนี้สลับกลับมาที่เรื่องการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทาง/โครงการความช่วยเหลือของหน่วยงานทางการ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของแต่ละธนาคาร ทั้งเพื่อสนับสนุนสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กำไรแบงก์ไตรมาส 2 อ่วม

โควิดพ่นพิษฉุดกำไรแบงก์ Q2 คาดหด 52%

ซิตี้แบงก์ คาดเศรษฐกิจโลก ครึ่งหลังปี 63 ติดลบ 3.5%

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) 8 แห่ง ที่ประกาศผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2563พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 20,783 ล้านบาท ลดลง 14,429 ล้านบาทหรือ 40.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 35,212 ล้านบาท โดยที่ลดลงมากที่สุดคือ กสิกรไทย กำไรสุทธิเหลือเพียง 2,175 ล้านบาท ลดลงถึง 7,754 ล้านบาทหรือ 78.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 9,929 ล้านบาท รองลงมาเป็นกรุงไทย มีกำไรสุทธิ 3,829 ล้านบาท ลดลง 4,341 ล้านบาท หรือ 53.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,170 ล้านบาท 

สาหัส 8 แบงก์ กำไรไตรมาส 2 ร่วง 41%

งวดไตรมาส 2 ปี 2563 มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นคือ ทหารไทยหรือ ทีเอ็มบี มีกำไรสุทธิ 3,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,178 ล้านบาทหรือ 61.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,917 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ ซีไอเอ็มบีไทย มีกำไรสุทธิ 306 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 106 ล้านบาทหรือ 53% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท 

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของรายรายได้จากการดำเนิน 10.5% ขณะที่ผลขาดดุลด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 6.6% ซึ่งสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 5.8% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากธุรกิจเช่าซื้อเพิ่มขึ้น 58.6 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1%     

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส2 ที่ลดลงนั้น หลักๆเป็นผลมาจากการปิดเมือง (ล็อกดาวน์)ช่วงเดือนมีนาคม ประกอบกับสถาบันการเงินมีความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนรายได้ที่ลดลงมาจากมาตรการพักชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์หลังมาตรการผ่อนคลายจบลง 

ส่วนแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลนั้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้าว่า ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเร่งเจรจาเพื่อหาทางปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือได้ตรงจุด ภายหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ตุลาคม2563

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ(TMB Analytics) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2563 โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการคลายล็อกดาวน์เฟสสุดท้าย ทำให้กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดสามารถกลับมาดำเนินงานบางส่วน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังคงเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ บวกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดกว่า จะเบิกจ่ายในไตรมาสนี้  1 แสนล้านบาท ในส่วนของการสนับสนุนภาคเกษตรให้ฟื้นตัว ช่วยพยุงให้การบริโภคเอกชนหดตัวน้อยลง ขณะที่ภาคส่งออกยังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยมีเพียงสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังส่งออกได้ โดยคาดว่า ส่งออกไทยทั้งปีจะติดลบ 12.7% 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในหลายประเทศ ที่ยังมีความรุนแรงโดยเฉพพาะสหรัฐ บราซิล รัสเซีย และอีกหลายประเทศในเอเชียที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยซึ่งยังเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดรอบสองของโควิด ทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องสิ่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้ โดย TMB Analatics คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส3 จะหดตัวที่ 11.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน 

หน้า13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563