1 ตุลาคม 2563 รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผู้ที่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบ e-Withholding tax หรือการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับการลดอัตราภาษีจาก 3% เป็น 2%
การปรับลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เป็น 2% ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการยื่นแบบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่ได้เปิดรับสมัครสถาบันการเงินที่สนใจเป็นผู้ให้บริการ e-Withholding tax ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงินเป็นตัวแทนในการรับนำส่งข้อมูลและเงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสำหรับผู้เสียภาษีมากขึ้น เพราะลดขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงต้นทุนในการทำหนังสือภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ดีเดย์ 1 ต.ค.63
ทั้งนี้กรมสรรพากรเชื่อว่า จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีได้มากขึ้น เพราะขั้นตอนการดำเนินการจะมีเพียงขั้นตอนเดียว เพียงผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้จ่ายเงินหรือนายจ้าง) ส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้รับเงินพร้อมโอนเงินไปยังธนาคารผู้ให้บริการ เพื่อนำส่งกรมสรรพากรต่อไป
ขั้นตอนดังกล่าวจะยุ่งยากน้อยกว่าระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายในปัจจุบัน ที่ผู้หักภาษีต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ผู้รับเงินและจัดเก็บหลักฐานไว้ โดยทุกๆ เดือนจะต้องรวบรวมข้อมูลการหักภาษีดังกล่าวเพื่อยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งเงินภาษี และทุกๆ ปีจะต้องจัดทำแบบสรุปภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำปีเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร ส่วนผู้เสียภาษีจะต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้เพื่อยื่นแบบแสดงรายการประจำปี
มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากร ฉบับที่ 20 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรได้ระบุว่า ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเป็นผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษี ยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อรับเงินภาษีจากประชาชนและผู้ประกอบการแทนกรมสรรพากรได้
โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรเอง ซึ่งจะดำเนินการนำส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกรมสรรพากรภายใน 4 วันทำการ แต่หากต้องการข้อมูลเพิ่ม ธนาคารจะให้ผู้เสียภาษีเข้ามาแสดงรายการเพิ่ม จากนั้นจะนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าวไปยังสรรพากรภายใน 1 วันทำการ
ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องรักษามาตรฐานของระบบการนำส่งรายการและการเสียภาษีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมสรรพากรจะประเมินระบบทุกๆ 2 ปี เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เสียภาษี โดยหากธนาคารไม่นำส่งหรือนำส่งเงินภาษีของผู้เสียภาษีไม่ครบถ้วน ธนาคารจะต้องรับผิดชอบและนำส่งเงินดังกล่าวพร้อมอัตราดอกเบี้ย 15% ให้กับกรมสรรพากรด้วย
ขณะที่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ สามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้ดังกล่าวผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ เพียงลูกค้าแจ้งข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่ง และเมื่อนำส่งภาษีดังกล่าวแล้ว จะได้รับหลักฐานยืนยันการชำระภาษี พร้อมรับ SMS แจ้งด้วย