ธปท.จับตา 3ปัจจัยชี้เศรษฐกิจปี2563 เผยภาคบริการรับผลกระทบของโควิดระลอกใหม่แล้ว ส่วนไตรมาส4 มูลค่าส่งออกสินค้าขยายตัว 4.6%เป็นครั้งแรกในรอบ 10เดือนและการใช้จ่ายภายในหนุนเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องแต่ภาคท่องเที่ยวยังหดตัวสูง
นางพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงข่าวตัวเลขเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2563 ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่( COVID-19)ช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน โดยเริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
สำหรับรายละเอียดมูลค่าการส่งออกไทยเติบโต 4.6%โดยปรับตัวดีเกือบทุกหมวดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค่า วัฎจักรสินสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกยางพารา มันสำปะหลัง และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นด้วย ส่วนใหญ่สินค้าส่งออกสูงกว่าระดับก่อนโควิดในบางหมวดแต่ต้องติดตามต่อไป ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตหกรรม กลับมาหดตัว2.4% จากการผลิตน้ำตาล เหตุผลผลิตอ้อยที่ปรับลดลงจากภัยแล้งก่อนหน้าและโรงงานเปิดหีบอ้อยล่าช้ากว่าปีก่อน หมวดปิโตรเลียมหดตัวตามการผลิตน้ำมันเครื่องบินและเหตุจากการปิดซ่อมโรงกลั่น แต่การผลิตสินค้าหลายหมวดยังขยายตัวได้เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน /แผ่นวงจรอิเล็กทรอกนิกส์ เป็นต้น ส่วนเครื่องชี้การลงทุนขยายตัว 4.5%ต่อเนื่องจากเดือนพ.ย.อยู่ที่ 1.1%ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์สอดคล้องกับทิศทางอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ทยอยฟื้นตัวสะท้อนการนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคมและยอดขายเครื่องจักรในประเทศดีขึ้นแต่ด้านการก่อสร้างยังหดตัว
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลงทุนของรัฐบาลกลาง(ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัว 74.1% แม้รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไม่รวมเงินโอนหดตัว 0.9% ด้านการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 13% อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว 2.7%เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ รวมถึงการนำเข้าเสื้อผ้าที่ดีขึ้น แต่ หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลง-2.9%จากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ สาเหตุผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด
ด้านเสถียรภาพต่างประเทศทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น 1.65หมื่นล้านดอลลาร์ แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติชะลอลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังแข็งค่าตามการอ่อนตัวของดอลลาร์ สาเหตุนักลงทุนมั่นใจมากขึ้นจากข่าววัคซีนและผู้นำสหรัฐคนใหม่ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ แต่NEERอ่อนค่าลงเล็กน้อยในเดือนมกราคมจากผลกระทบการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศ
3ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ในไทย 2.ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการค้าโลก ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นเดือนมกราคม แม้จะไม่กระทบรุนแรงเท่าระลอกแรก ประกอบกับไทยมีความพร้อมด้านสาธารณสุข มีความเข้มงวดแม้จะแตกต่างกันตามเช็กเตอร์ตามพื้นที่ แต่พบว่าภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสาร ส่วนการขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบเล็กน้อย
ด้านตลาดแรงงาน ยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อผู้ประกันตนและอัตราการว่างงาน 3.9แสนคนและ5.9แสนคนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนผู้เสมือนว่างงานรายสาขาธุรกิจมีจำนวน 2.4ล้านคนเพิ่มขึ้นจาก 2.2ล้านคนในเดือนพ.ย.โดยมาจากนอกภาคเกษตร 8แสนคนและภาคเกษตรอีก 1.6ล้านคน ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเครื่องชี้ภาคบริการหลายประเทศชะลอลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ขณะที่เครื่องชี้ภาคการผลิตยังฟื้นตัวตามทิศทางการค้าโลก ขณะเดียวกันนโยบายที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐจะช่วยสนับสนุนการค้าโลกในระยะต่อไป เช่น 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐที่เตรียมเสนอสภาคองเกรสเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศโดยเพิ่มความช่วยเหลือภาคครัวเรือนรายได้น้อยและภาคธุรกิจ 2.การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน ทั้งเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และพลังงาน และ 3.นโยบายต่างประเทศที่สหรัฐยังคงท่าทีเป็นคู่แข่งจีนแต่เน้นกระชับความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรเพื่อกดดันจีน คาดว่าบรรยากาศการค้าโลกจะดีขึ้น
นางพรเพ็ญกล่าวว่า สิ่งที่ไทยควรจะเตรียมความพร้อมเพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาวซึ่งมีนัยต่อไทย ได้แก่ 1.เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถตอบสนองตามความต้องการสินค้าได้ทันท่วงที 2.สร้างสมดุลทางการค้ากับทั้งสหรัฐและจีน เพื่อรักษาห่วงโซ่การผลิตและการตลาด 3. รักษาสิทธิในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาว
“สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคมเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางภาคส่วน สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกสินค้า แต่ ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูง”
อ่านฉบับเต็ม:รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคมปี2563