การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยังคงส่งผลกระทบอย่างวงกว้าง โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ของธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ถือเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำให้ธุรกิจต้องหันมาพึ่งพาเงินสินเชื่อ เพื่อนำไปประดองและต่อลมหายใจรอวันกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ทยอยออกมาตรการมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ 2 มาตรการได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 250,000 ล้านบาทและ
โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือAsset warehousing “โกดังพักหนี้” วงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการ ตีทรัพย์ชำระหนี้ชั่วคราว แต่ผู้ประกอบการยังให้ใช้ทรัพย์นั้นได้ต่อ โดยให้สิทธิ์ 5 ปี ในการซื้อคืนทรัพย์
ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านของสินเชื่อต่างตอบรับทั้งบวกและลบ แต่ราคาหุ้นทั้ง 10 แห่งในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด ตามความคาดหวังว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับตํ่า รวมถึงส่งสัญญาณตรึงไว้อีก 2 ปี นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ความสำเร็จของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ขึ้นกับ 2 เงื่อนไขหลักคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมการท่องเที่ยว และข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งแตกต่างกันตามเงื่อนไขในทางปฏิบัติของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งมาตรการรอบนี้อาจไม่ครอบคลุมลูกหนี้ได้ทุกกลุ่ม โดยกลุ่มที่ต้องมีแนวทางดูแลเพิ่มเติม คงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากใช้วิธีการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบธุรกิจ
นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัดเปิดเผยว่า คงนํ้าหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เท่ากับตลาด โดยมองว่า มาตรการซอฟท์โลนใหม่
และโกดังพักหนี้จะเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากซอฟท์โลนเดิมกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ตํ่าเพียง 2% และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)คํ้าประกันเพียง 30% ของวงเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงและยังกดดันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้อ่อนตัวลงต่อกลุ่มธนาคารที่ปล่อยซอฟท์โลน และจะช่วยหนุนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ไม่เป็นปัจจัยกดดันต่อ NIM
ขณะที่ มาตรการโกดังพักหนี้มองเป็นปัจจัยที่ลดความเสี่ยงให้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากจะช่วยรองรับลูกหนี้ในกลุ่มที่ยังคงค้างอยู่ในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งได้ครบกำหนดมาตรการจากภาครัฐไปแล้ว แต่ปัจจุบันเป็นธนาคารที่ให้ความช่วยเหลือต่อ โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในธุรกิจโรงแรมที่ยังขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว และสุดท้ายต้องกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อีกทั้งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากสำรองหนี้ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้
ด้าน บล.เคทีบี(ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะช่วยลดภาระในการตั้งสำรอง โดยการปรับเงื่อนไขซอฟท์โลนมองเป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งส่งผลดีต่อสินเชื่อ ช่วยจูงใจให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์สนใจเข้าร่วมปล่อยกู้ซอฟท์โลนเพิ่มขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้จูงใจมากนักและอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงเรื่องเอ็นพีแอล ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มองเป็นบวกมากกว่าซอฟท์โลน เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนมาก แต่คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก จากการติดเรื่องสินทรัพย์ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเป็นสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ
สำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารอยู่แล้ว แต่สุดท้ายแล้วมองภาพรวมว่าจะสามารถช่วยให้กลุ่มธนาคารสามารถแช่แข็งลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวบางส่วนที่เข้าโครงการนี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารไม่มีภาระในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และเอ็นพีแอลจะทรงตัว ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดเรียงจากสัดส่วนสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564