นักวิเคราะห์จากสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการกระจายวัคซีน คาดว่ายังไม่สามารถเปิดประเทศได้ในไตรมาส 2 ยังคงต้องใช้การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกที่ฟื้นตัว รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวและบริโภคในประเทศ ผ่านนโยบายกระตุ้นของรัฐพยุงเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ไปก่อนและเร่งให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยอาจเริ่มจากจังหวัดหลักในการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่กระบี่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินมากลับมาและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 1 ที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบตลาดหุ้นในหลายประเทศ หลังจากค่อนข้างตามหลังตลาดอื่นๆในปีที่ผ่านมา โดยได้ปรับปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าการเริ่มใช้วัคซีนสำหรับโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักเชิงบวกต่อตลาดหุ้นมากกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะในหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และหุ้นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มากในช่วงที่ผ่านมา
"ความคาดหวังเชิงบวกต่อการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายมากขึ้น อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนในไตรมาสที่ 2 การปรับเพิ่มประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้หุ้นที่ขึ้นไปก่อนหน้ายังสามารถยืนระยะได้จากพื้นฐานผลประกอบการที่จะทยอยฟื้นตัวตามมา การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยยังเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ต่อ โดยมองว่าการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตรอาจเป็นปัจจัยที่กระทบตลาดทุนได้หากดอกเบี้ยพันธบัตรปรับตัวขึ้นมากเกินไป และนโยบายการเพิ่มภาษีของสหรัฐอาจทำให้ตลาดหุ้นสะดุดได้ในระยะสั้น"
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่สำคัญในไตรมาสนี้ คือการเลือกสรรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่นกว่าคนอื่น บริษัทที่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และหุ้นที่ราคายังตามหลังกลุ่มอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อันจะทำให้ราคาสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีโดยรวม ทั้งนี้ คาดการณ์เป้าหมายดัชนีที่ 1,690 จุด ในช่วงที่เหลือของปี 2564
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง IMF ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของโลกสำหรับปี 2564 ที่ 5.5% และ 4.2% ปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวที่รวดเร็วของเศรษฐกิจในหลายประเทศสำหรับทิศทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นในสหรัฐที่ออกมาตรการแจกเงินให้ไปใช้ในการบริโภค และอีกหลายประเทศที่ออกมาตรการกระตุ้นที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ นโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางของหลายประเทศยังคงผ่อนคลายเพื่อช่วยอีกแรง เมื่อนำมารวมกับการประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากขึ้นจะทำให้ประชากรเหล่านั้นกลับมาดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงกับก่อนหน้านี้ โดยคาดหวังจะได้เห็นประเทศที่เริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) สามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้โดยอิสระ และคาดว่าจะเริ่มได้เห็นนโยบายนี้กับประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น จึงทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเห็นเติบโตได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังปรับตัวขึ้นได้ดีในไตรมาส 1 โดยได้แรงหนุนจากข่าวความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2564 ที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายที่ยังต่ำต่อเนื่องและการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางหลักๆ ยังเป็นปัจจัยหนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงเช่น ตราสารทุนยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อในวงรอบเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การปรับขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตรที่ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาอาจกระทบภาพตลาดหุ้นโดยรวมในระยะสั้น แต่ด้วยแนวโน้มที่ดอกเบี้ยพันธบัตรอาจขึ้นต่อไม่มาก หรือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีมาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของดอกเบี้ยพันธบัตร ทำให้ตลาดไม่ได้ปรับตัวลงมาก และพร้อมกลับมาฟื้นได้ในไตรมาส 2 และต่อเนื่องถึงครึ่งหลังของปี
ขณะเดียวกัน ตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศกลับมาให้ผลตอบแทนเป็นลบ หลังนักลงทุนเริ่มกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาจากทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและ ฐานเงินเฟ้อต่ำในปีก่อนในช่วงที่ผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 70bp สำหรับ US10Y และ 46bp สำหรับ US5Y ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นปรับขึ้นน้อยเนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายทางการเงินโดยรวมยังคงเป็นลักษณะผ่อนคลายอยู่