นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจง ประเด็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในอัตรา 7% แบบ 2 เด้ง หรือรวมเป็น 14% ในการนำเข้าวัคซีนนั้น เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก เนื่องจากการนำเข้าวัคซีนหรือยาสำหรับใช้ในคน เมื่อมีการซื้อขายจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ใช่การเก็บภาษี VAT 2 เด้ง อย่างไรก็ตามในปี 2563 กรมฯได้ยกเว้นภาษี VAT สำหรับผู้ที่นำเข้ามาเพื่อการบริจาค หรือ การกุศล ซึ่งมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว
“การยกเว้นภาษี VAT ให้กับวัคซีนโควิดเป็นการเฉพาะ น่าจะทำไม่ได้ เพราะภาษี VAT เป็นกฎหมายประมวลรัษฎากร ถ้าจะยกเว้นจะต้องแก้กฎหมายอีกหลายขั้นตอน แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การยกเว้นภาษี VAT สำหรับการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์และวัคซีนเพื่อนำมาบริจาคเท่านั้น เหมือนที่กรมสรรพากร ได้ดำเนินการเมื่อปี 2563 ส่วนจะนำกลับมาใช้อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย” นางสมหมาย กล่าว
สำหรับการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามความในประมวลรัษฎากร เมื่อปี 2563 นั้น เป็นการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคโควิด-19 เช่น ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ จากต่างประเทศและบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 – 28 ก.พ.2564