น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดของโควิดระลอก 3 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจสถานการณ์หนี้สินของภาคครัวเรือนในกรุงเทพและปริมณฑลในไตรมาส 2 ของปี 2564 เทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา (เทียบเดือนมีนาคมกับเดือนมิถุนายน) พบว่า หลังมีโควิดรอบ 3 สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ขณะที่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลง ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ที่สูงเกินกว่า 50%ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในช่วงที่มีการระบาดโควิดรอบ 2 มาที่อยู่ที่ระดับ 22.1%
นอกจากนั้น สถานการณ์หนี้ที่เพิ่มขึ้น ยังสะท้อนผ่านจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อรายปรับเพิ่มจาก 2.1 บัญชีเป็น 2.2 บัญชี สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) ซึ่งสะท้อนภาระจ่ายหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพิ่มจาก 42.8% เป็น 46.9% ซึ่งกดดันรายได้ ขณะที่รายได้ลดลง มีสัดส่วนเพิ่มจาก 56.2% เป็น 59.6%
“หลังโควิดระลอก3 จำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมอยู่ที่ 23.2% มาอยู่ที่ระดับ 39%และยังสนใจที่จะขอรับความช่วยเหลือกว่า 52.5%จากเดิมที่ไม่สนใจเข้าโครงการดังกล่าว โดยมองไปในอนาคตลูกหนี้ประเมินสถานการณ์หนี้สินในภาพระมัดระวังขึ้น เนื่องจาก 4 สาเหตุคือ รายได้ไม่แน่นอน, ภาระหนี้และค่าครองชีพรวมยังสูง, เป็นหนี้นอกระบบและตกงานหรือว่างงาน” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว
ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยน่าจะแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ ซึ่งจะมีผลทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้ เช่นเดียวกับประเด็นคุณภาพหนี้ธนาคารพาณิชย์โดยแนวโน้มเอ็นพีแอล แม้จะมีอานิสงค์จากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐและการผ่อนคลายการชัดชั้นลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำให้เอ็นพีแอลไม่เพิ่มแรง คาดว่าสิ้นปีเอ็นพีแอลจะอยู่ที่ 3.2-3.50% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 3.12% แต่เอ็นพีแอลยังเป็นประเด็นต้องติดตามต่อเนื่องใน 3 ปีข้างหน้า
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564