หลังจากบีโอไอ ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ,รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า,รถสามล้อไฟฟ้า ,รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และกิจการต่อเรือไฟฟ้า
จากแนวทางดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์ อย่างนาย Bakar Sadik Agwan นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยานยนต์ ของบริษัท Global Data (บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 และได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน) ได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ของไทยที่ครอบคลุมภาคส่วนใหม่ ๆว่าเป็นการพัฒนาเชิงบวกที่มีนัยสําคัญ และก้าวหน้ากว่าประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างมาก
"การสนับสนุนของรัฐบาลในรอบใหม่นี้ มีทั้ง รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ โดยนโยบายดังกล่าวอาจช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ตลอดจนช่วยให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้มีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในไทยทั้งหมดภายในปี 2030 ได้อีกด้วย "
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยต้องให้ความสําคัญกับอุปสงค์ภายในประเทศที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนด้วยเช่นกัน
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเรื่องการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต EV ของอาเซียน
โดยขณะนี้มีนักลงทุนหลายราย หลายสัญชาติแสดงความพร้อมที่จะเข้าลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV แล้ว ซึ่งในอนาคตโลกมีแนวโน้มการใช้รถ EV มากถึง 60% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด จึงเป็นความก้าวหน้าที่ดีของไทยที่ได้มีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนในเรื่องรถ EV
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงพลังงาน ก็รับลูก โดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ,นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วม
สำหรับการประชุมร่วมหารือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการเพื่อไปสู่เป้าหมาย 30@30 โดยมี มาตรการเร่งด่วน อาทิ การกระตุ้นตลาด การเร่งให้เกิดการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า การปรับปรุงกฎระเบียบ และการพัฒนากำลังคน เป็นต้น