สทนช.กางแผนจัดการน้ำเขต อีอีซี

15 เม.ย. 2563 | 06:24 น.

สทนช.ระดมรุกทุกมาตรการน้ำ หวังป้องกันป้อมปราการ อีอีซี

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2563 สถานการณ์น้ำกำลังเขม็งเกลียวตึงตัวส่งผลให้ต้องมีการออกมาตรการทั้งฝั่งผู้ใช้ และฝั่งของแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องสร้างความมั่นคงด้านน้ำ

 

สำหรับมาตรการทางฝั่งผู้ใช้น้ำ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เข้มงวดมานานแล้ว โดยเฉพาะมาตรการ 3 R (Reduce Reuse Recycle) โดยตั้งเป้าลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมลง 10% ,ภาคการท่องเที่ยวที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เมื่อเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้การใช้น้ำส่วนนี้ลดลงอย่างมาก ส่วนภาคเกษตรกรรมเป็นช่วงสุดท้ายที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะสวนทุเรียน พืชเศรษฐกิจหลักของระยอง

สทนช.กางแผนจัดการน้ำเขต อีอีซี

“สวนทุเรียนแทบทั้งหมด เกษตรกรจะมีสระน้ำสำรอง รับน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนแล้วสูบเก็บไว้ในสระของสวน บางรายก็ขุดบ่อบาดาลเสริมความมั่นคงอีกชั้น โดยตอนนี้อยู่ในช่วงปลาย ต้องประคับประคองให้เก็บเกี่ยวผลทุเรียนเสร็จก่อน ปัญหาจะเบาลงทันที ส่วนภาคการท่องเที่ยวปัญหาน้อย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา  เหลือแต่บ้านเรือนประชาชนก็ยังคงรณรงค์ให้ประหยัดน้ำกัน”

 

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ส่วนของอุตสาหกรรม ช่วงนี้เป็นนาทีทองของสินค้าบางประเภท เช่น เหล็ก เพราะอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ลดการผลิตลง ดังนั้นไทยก็มีโอกาส แต่ทั้งนี้ต้องมีน้ำหล่อเย็นให้โรงงานผลิตเหล็ก ซึ่งสทนช.กำลังหาแหล่งน้ำ รวมทั้งเจรจากับเอกชนที่เป็นเจ้าของแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในโรงงาน

 

 

 

ส่วนมาตรการเพิ่มน้ำต้นทุนนั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สทนช.พยายามเพิ่มน้ำต้นทุนที่จะใช้ในอีอีซี ที่เขื่อนประแสร์ ที่นอกจากใช้ในภาคการเกษตรแล้ว ยังผันน้ำวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรผ่านบริษัทอีสต์วอเตอร์จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ขณะนี้กำลังพิจารณาสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงส่งไปเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี หากค่าความเค็มน่าจะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

สทนช.กางแผนจัดการน้ำเขต อีอีซี

ส่วนการผันน้ำจากเขื่อนประแกด จ.จันทบุรี มาเติมเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง เพื่อกระจายลงมาช่วยทั้ง จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี นั้น จะเป็นมาตรการท้ายๆ เพราะขณะนี้ยังผันมาใช้อยู่ในโควตาเดิมที่ตกลงกันไว้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

“เรื่องน้ำ ถ้า จ.ระยอง ตึงตัวเรื่องน้ำเมื่อไหร่ จ.ชลบุรี ก็จะอึดอัดมากขึ้น  ดังนั้น นอกจากอาศัยผันน้ำมาเติมเขื่อนประแสร์ เราก็ต้องหาวิธีผันน้ำจากที่อื่นไปเติมเขื่อนบางพระด้วย ถ้าผ่านพ้นฤดูแล้งนี้ไปได้ พอเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมน่าจะมีความหวังว่า จะมีฝนตกลงมาบ้าง และเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น การศึกษาการทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืดซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน”