จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม และส่งต่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อช่วยป้องกัน ยับยั้ง การแพร่ระบาด COVID-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เป็นลำดับแรกๆ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ทีมอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้ผนึกกำลังร่วมกันจัดทำหน้ากากป้องกันใบหน้า หรือ Face Shield จากการพิมพ์สามมิติส่งต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง
อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล รวมพลังร่วมกันผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า หรือ เฟซ ชีลด์ (Face Shield) จากการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยมี ผศ.ดร.อรรถพร วิเศษสินธุ์ และ ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด รวมถึง ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลพร้อมด้วยบุคลากรและนิสิตในภาควิชาที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันผลิตโครงหน้ากากจากการพิมพ์สามมิติ
เริ่มแรก ผศ.ดร.อรรถพร วิเศษสินธุ์ ได้รับการติดต่อจาก ผศ.(พิเศษ) พญ.ภัทร์นฤน มหัธนสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอความร่วมมือในการพิมพ์สามมิติจากต้นแบบของบริษัท PRUSAPRINTER.ORG จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการผลิต 3D Printer Face Shield สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้ในปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ COVID-19
ผศ.ดร.อรรถพร กล่าวว่า การขึ้นรูปโครงหน้ากาก Face Shield ได้ปรับจากต้นแบบมาจาก PRUSA RC3 ของบริษัทPRUSAPRINTER.ORG เพื่อให้ลดเวลาในการพิมพ์ชิ้นงานของต้นแบบคือ 5.30 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงเพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด และความต้องการใช้งานที่มากจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้นแบบที่ปรับมาใช้งานได้จริงนั้นคือPRUSA RC3 M2 ได้รับคำปรึกษาจากทีมงานแพทย์และอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านการใช้งานที่เหมาะสมและปลอดภัยกับทีมงานแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วย COVID19 โดยมีนายประเวสน์แบบประเสริฐ บุคลากรภาควิชา สนับสนุนการพิมพ์ชิ้นงาน และ น.ส.ศนทกานต์ เหลืองวิเศษ นิสิตปริญญาโทของภาควิชา สนับสนุนการเขียนและออกแบบ
ส่วนของหน้ากากที่จัดทำเสร็จแล้ว ได้จัดส่งไปยังบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ใช้งานจริง และได้รับการตอบรับที่ดี มีน้ำหนักเบา เข้ากับขนาดศีรษะของผู้ใช้งาน ไม่เกิดฝ้าที่หน้ากาก และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากสามารถนำไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามวิธีของโรงพยาบาลและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ทำให้ลดขยะติดเชื้อได้อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร.คุณยุต กล่าวว่า การขึ้นรูปโครงหน้ากาก Face Shield ได้ใช้เส้นพลาสติก Filament ชนิด PLA ขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยมีนายกิตตินาถ วรรณิสสร นิสิตปริญญาเอกของภาควิชา เป็นผู้ปรับแบบจากต้นแบบของ PRUSA ให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยเริ่มจากออกแบบและจัดทำโมเดล เพื่อทดสอบ พร้อมปรับขนาดให้เหมาะสม รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการจึงทำการผลิต ในการจัดทำหน้ากากป้องกันใบหน้าครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์สามมิติ จากหน่วยสนับสนุนการเรียนรู้การพิมพ์สามมิติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตเก่าวิศวะ รุ่น E24 และรุ่น E26 ตลอดจนสมาคมนิสิตเก่าวิศวะ มก.
การผลิตโครงหน้ากากด้วยการพิมพ์สามมิติ สามารถผลิตได้ประมาณ 40-50 ชิ้นต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ผศ.ดร.คุณยุต และทีมงานอาจารย์ จึงมีความตั้งใจจะนำต้นแบบที่ได้ มาปรับให้เหมาะสม แล้วนำมาออกแบบโมล เพื่อฉีดพลาสติกซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึงวันละ 2,000 ชิ้น