ไม่เกินความคาดหมาย เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท
ขณะนี้ทาง กกต.ได้ส่งคำร้องยุบพรรคถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานกับพรรคการเมืองอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 72 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้พรรคการ เมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
เป็นที่คาดการณ์ว่ากระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะ “รู้ผล” ไม่เกินราวเดือนมกราคม 2563
หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก็จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 15 คน เป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ส.ส.ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภาย ใน 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด
และหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจริง มีคำตอบจากปาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะไปพบปะสื่อมวลชนไทย-ต่างประเทศ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม
ดูเหมือนว่า “ธนาธร” มั่นใจ และรู้ชะตากรรมของตนเอง และมวลสมาชิกส้มหวาน จึงปล่อย วลีสำคัญหลุดออกมาจากปาก
“ถ้าพรรคเราถูกยุบและเราต้องตั้งพรรคใหม่ เพื่อเริ่มต้นทุกอย่างอีกครั้ง มันจะยากลำบากกว่าเดิมมาก แต่เราจะไม่ยอมแพ้”
ทั้งยังบอกตัวเลขส.ส.ที่จะติดตามไปอยู่กับพรรคใหม่ว่า “ส.ส.ประมาณ 60 คน เป็นอย่างน้อย จาก 80 คน จะย้ายตามไปอยู่พรรคใหม่ด้วยกัน”
และไม่แปลกที่จะคาดหมายว่า “บ้านหลังใหม่” ที่ธนาธร เตรียมไว้รองรับ ส.ส. อาจเป็นพรรคใดพรรคหนึ่งใน 3 พรรค คือ 1. พลเมืองใหม่ 2. สามัญชน และ 3. วิสัยทัศน์ใหม่
ทั้ง 3 พรรคที่ธนาธร เล็งไว้ ย้อนไปดูที่มา ดูเหมือนแตกหน่อมาจากคนในเครือข่ายของธนาธร และพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน
โฟกัสที่ “พรรคพลเมืองใหม่” ชื่อนี้คนในอนาคตใหม่คุ้นเคยดี เพราะแรกทีเดียวเป็นพรรคที่อยู่ในใจ “ธนาธร” ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากพรรคพลเมืองใหม่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งพรรค โดยนายอภิมุข อิ่มมณี หัวหน้าพรรค ยื่นขอจัดตั้งพรรคเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561
ขณะที่ “พรรคสามัญชน” ปัจจุบันมีนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และนายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ อดีตแกนนำกลุ่มพอกันที เป็นเลขาธิการพรรค พรรคนี้ยื่นจัดตั้งพรรคกับ กกต. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 เป็นที่น่าสังเกตว่า จุดยืนของพรรคสามัญชน เขียนชัดเจนว่า “ไม่ร่วมรัฐบาล” และไม่หนุนนายกฯคนนอก
ส่วนพรรค “วิสัยทัศน์ใหม่” หลายคนคุ้นเคยดี เพราะเป็นพรรคที่ถูกมองไว้เป็นพรรคอะไหล่ ของพรรคไทยรักษาชาติ ในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค ปัจจุบันพรรควิสัยทัศน์ใหม่ อยู่ระหว่างการยื่นจัดตั้งพรรค
แน่นอนว่าเมื่อได้ “บ้านหลังใหม่” เจ้าบ้านและหัวหน้าคนใหม่ ต้องมีภาพลักษณ์ใหม่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ชื่อนี้จึงถูกโฟกัส และวันนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่ “ธนาธร” จะดันขึ้นมาเป็นมือวางอันดับ 1 ในพรรคใหม่ ชูพรรคคนรุ่นใหม่ ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง และเป็นที่ยอมรับของสังคมทุกวัย
“พิธา” เป็นหลาน “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” คนใกล้ชิด “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จบปริญญาตรี สาขาการเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท คณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และบริหารธุรกิจ ที่เอ็มไอที สโลน สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตส์ สหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของบริษัทผลิตนํ้ามันรำข้าวดิบรายใหญ่ ของประเทศไทย ก่อนเข้าสู่เส้นทาง การเมืองเต็มตัวในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
แม้จะเป็นมือใหม่การเมือง เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคอนาคตใหม่ มีความโดดเด่น ถึงขั้นถูกวางตัวเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ของพรรคอนาคตใหม่
เส้นทางการเมือง “พิธา” ดูโดดเด่นไม่แพ้ “ธนาธร” ต่างตรงที่การวางบทบาทในสภาและนอกสภาที่เรียบง่าย ไม่ก้าวร้าว มีข้อมูลอ้างอิงน่าเชื่อถือ จนถูกยกให้เป็น “ดาวสภาดวงใหม่” จากการยกโมเดล “กระดุม 5 เม็ด” ช่วยแก้ปัญหาเกษตรกร โดยเปรียบการติดผิดตั้งแต่เม็ดแรกก็จะผิดตลอดไป
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562