ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ประชาชนตกงาน การทำมาหา กินลำบาก แต่ยังมีปรากฏการณ์ดีๆ เกิดบนโลกใบนี้ จากความหิวโหย กลายเป็นการแบ่งปันในรูปแบบ “ตู้ปันสุข” กระจายไปทั่วโลก สร้างรอยยิ้มขึ้นในหลายพื้นที่ รวมทั้งในประเทศไทย
จุดเริ่มของ“ตู้ปันสุข”
“ตู้ปันสุข” ที่มาพร้อม “วิถีชีวิตแบบใหม่” หรือ “New Normal” ในรูปลักษณ์ตู้กับข้าวในครัว ที่ถูกยกมาตั้งริมทาง พร้อมข้อความกินใจ “หยิบไปแต่พอดี ถ้ามีให้แบ่งปัน” ที่มีให้เห็นในจุดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ มีจุดเริ่มต้นมาจาก โครงการ THE PANTRY OF SHARING ของต่างประเทศ ซึ่ง “กลุ่มอิฐน้อย” โดย สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ได้นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศไทย
“สุภกฤษ” เคยให้สัมภาษณ์ถึงคอนเซ็ปต์ของการทำ “ตู้ปันสุข” ว่า เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพราะปกติแล้ว ถ้าบริจาค แบ่งปันทำในโมเดลโรงทาน คนที่จะไปบริจาคได้ คือต้องมีของอย่างน้อย 100-200 ชิ้น แต่โมเดลนี้คือการแบ่งปัน คนที่มีเยอะก็สามารถทำได้ คนที่มีน้อยก็สามารถทำได้
“กลุ่มอิฐน้อย” เริ่มแรกมีการจัดตั้งตู้ทั้งหมด 5 ตู้ ได้แก่ สุขุมวิท 71 หน้าร้านประจักษ์เบเกอรี่, เพชรเกษม 54 หน้ายุวพุทธสมาคมแห่งประเทศ ไทย, ซอยวิภาวดี 60 (วงเวียนกลางซอย), ตลาดบางคอแหลม และหน้าโครงการ Sky Ville บ้านแลง จ.ระยอง
ที่น่าชื่นชมคือ แนวคิด “ตู้ปันสุข” ของ “กลุ่มอิฐน้อย” นอกจากช่วยบรรเทาทุกข์ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังเป็นช่องทางให้คนที่มีทุนทรัพย์ได้บริจาค ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม มีจุดแจกตู้ปันสุข 618 ตู้ ครบทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ
หลังจากที่ทุกทิศทั่วไทย แห่แบ่งปันอาหารมาใส่ในตู้กับข้าวตามจุดต่างๆ ทำให้เกิดเรื่องราวดีๆ สร้างรอยยิ้มให้คนไทยและชาวขอนแก่น เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ เรื่องราวของคุณยายท่านหนึ่งที่มาหยิบของที่ตู้กับข้าวปันสุขย่าน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งหยิบไปเพียงชิ้นเดียว และก่อนจากไปก็ทำท่าไหว้ขอบคุณอย่างน่ารัก และมีการแชร์ไปทั่วโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว
“บิ๊กตู่”ปลื้มนํ้าใจคนไทย
กระแส “ตู้ปันสุข” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยดังกล่าว หลังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือร่วมใจจุดกระแสในประเทศได้สำเร็จ ปรากฏได้แรงหนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความชื่นชมกับภาพความรักความห่วงใยของคนไทย และลงมากำชับด้วยตัวเอง เมื่อพบว่ามีภาพการยื้อแย่งอาหารในตู้ปันสุขแห่งหนึ่ง ใน จ.นครสวรรค์ หลังมีการนำตู้ไปติดตั้ง แล้วเกิดการเข้าไปแย่งสิ่งของกันชุลมุน บางรายถึงขั้นกระชากจากมือคนอื่นไป ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดของตู้คือการแบ่งกัน
สุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องจัดระเบียบการรับมอบของ โดยให้มีการวัดไข้ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมจำกัดให้ 1 คน สามารถหยิบของในตู้ได้ 4 ชิ้นเท่านั้น เพื่อกระจายของบริจาคในตู้ให้คนอื่นๆ ได้ทั่วถึงกัน
“ขอฝากเรื่องการจัดตั้งโรงทาน และจัดตั้งตู้ปันสุข หรือตู้แบ่งปัน ที่เป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคีระหว่างกัน คนที่มีศักยภาพก็นำของมา บริจาคช่วยเหลือกัน หลายอย่างต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรม การเผื่อแผ่แบ่งปัน ความรัก ความสามัคคี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาบ้างก็แก้ไขกันไป เพราะมีมาตรการทางสังคมอยู่แล้ว
ผมได้สั่งการให้ดูแลเรื่องตู้แบ่งปันให้มากขึ้น ให้มีคนเฝ้าและติดกล้องเพื่อบันทึกว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไร ยันไม่อยากลงโทษใคร เพียงแต่วันนี้เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องนึกถึงคนอื่น นำของไปใช้แต่พอดี เพียงพอแล้ว”
ศบค.เตือนเว้นระยะห่าง
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยอมรับว่ากระแส “ตู้ปันสุข” เป็นสัญลักษณ์ของความรัก แบ่งปัน ที่คนไทยมีนํ้าใจให้กันในห้วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติจากภัยที่มองไม่เห็นตัว
“เป็นความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เห็นโครงการตู้ปันสุข หรือตู้ลักษณะเดียวกันในชื่ออื่นๆ ที่มีการตั้งกันเพียงไม่กี่วันแล้วกระจายกันไปทั่วประเทศ ครอบคลุมแล้ว 43 จังหวัด เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยด้วยกันให้ความรัก แบ่งปัน มีนํ้าใจให้กัน อยากเห็นภาพแบบนี้ยั่งยืนตลอดไป เชื่อว่าจะปรากฏครบทั้ง 77 จังหวัด”
อย่างไรก็ดี นพ.ทวีศิลป์ แสดงความเป็นห่วง ต่อกรณีที่มีคนจำนวนมากเข้าไปเอาของบริจาคโดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ว่าอาจจะเกิดการติดเชื้อไวรัสได้ พร้อมแนะนำให้ล้างมือ-ใส่หน้ากาก และยืนรอคิวเว้นระยะห่าง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขด้วย ส่วนคนที่ดูแลตู้ปันสุข ก็ต้องทำความสะอาดพื้นผิวตู้ ด้วยการนำนํ้ายาเช็ดให้สะอาด รอให้แห้ง แล้วจึงนำของบริจาคไปวางได้
“คนให้อิ่มใจ คนรับก็อิ่มท้อง” อีกเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,575 หน้า 10 วันที่ 17 - 20 พฤษภาคม 2563