ปชป. เสนอ 6 แนวทางหลักใช้ งบ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน

01 มิ.ย. 2563 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2563 | 04:55 น.

ทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ร่วมกับนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคฯ แถลงข่าวข้อเสนอในการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 2. พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท และ 3. พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบโควิด-19 อย่างคุ้มค่า เน้นนำเทคโนโลยีทันสมัยมาปรับใช้ ที่สำคัญต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้

. ปชป. เสนอ 6 แนวทางหลักใช้ งบ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย มีข้อเสนอต่อภาครัฐในการนำงบประมาณภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้

1. การจ้างงาน--นำงบประมาณมาช่วยเหลือเรื่องการว่างงาน ตกงานเพราะแรงงานไร้ฝีมือ (ตั้งแต่ก่อนโควิดและจากโควิด) / สร้างข้อจูงใจ มาตรการจูงใจ ให้เอกชนเก็บคนไว้ ไม่ปลดออก มีการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งทีมเศรษฐกิจทันสมัยเองได้มีการจัดทำโครงการเรียนจบพบงานเพื่อช่วยนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำ และฝึกงานในองค์กรที่มีความพร้อมในการรองรับหลายแห่ง 

2. สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน—ภายใต้แนวคิด เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด ให้มีระบบสหกรณ์หรือ Co-op ที่มีศักยภาพ มีแนวทางช่วยเหลือ SMEs Startup วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเกษตร (Smart Farmer course)

3. นำเศรษฐกิจทันสมัย สร้างสรรค์ มาใช้--เช่น IP GI เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทั้งสินค้าและบริการ มีการลงทุนกับ Infrastructure ต่าง ๆ รองรับ Digital Transformation เช่นการทำ Big Data ในภาคเกษตร มีอาสาสมัครด้านดิจิตอลชุมชน รูปแบบคล้ายกับ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. กระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่วยแนะนำองค์ความรู้ในการใช้ดิจิตอลเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

4. มีการปรับห่วงโซ่อุปทานโลกและต่างประเทศ--ต้องรู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนในปัจจุบันและจะไปต่ออย่างไร เพื่อให้แข่งขันได้ภายใต้กติกาโลก หลังโควิด-19

5. การจัดการทางการเงิน –ให้ประชาชน หรือผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรม พักดอก พักต้นจริง ๆ มี Soft Loans ที่เข้าถึงได้สำหรับ SMEs

6. ปรับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม-- Social Infrastructure ต่าง ๆ ได้แก่สาธารณสุข มีการพัฒนาประเทศให้รองรับกับสังคมสูงอายุ หรือ Aging Society และการเป็น Medical hub มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา และเร่งทำ R&D กับทุกภาคส่วน

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่ายินดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันว่าจะบริหารด้วยความโปร่งใส ทำตามกฎหมาย โดยการใช้เงินกู้ดังกล่าวจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายเช่นเดียวกับเงินงบประมาณแผ่นดินปกติ มีระบบรายงานความก้าวหน้า และจะมีเว็บไซต์แสดงความก้าวหน้า แสดงประโยชน์/ผลลัพธ์แต่ละโครงการด้วย ในส่วนของทีมเศรษฐกิจฯ เห็นว่านอกจากความคุ้มค่าในการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว มาตรการในการใช้เงินให้มีความโปร่งใส ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องการต้านการทุจริตเพื่อให้การใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ต้องมีกลไกตรวจสอบการใช้เงิน ที่ไม่ใช่แค่ในส่วนของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องมีการดึงภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย ตั้งแต่แรกเริ่มสำหรับโครงการที่เสี่ยงในการทุจริตตั้งแต่กระบวนการออกแบบ TOR เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งบประมาณแผ่นดินทุกบาท ทุกสตางค์ จะเกิดความคุ้มค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน เช่นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) “ACT” รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยในการตรวจสอบความโปร่งใส ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการทุจริตได้เช่นกัน