‘อุตตม’ ยํ้า3พรก. พยุงเครื่องจักรศก.

07 มิ.ย. 2563 | 07:50 น.

การประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ 3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 โดยมี ส.ว.ขอใช้สิทธิอภิปราย 48 คน รวมเวลาประมาณ 9 ชั่วโมง จากนั้นจะลงมติทีละฉบับ

 

ยํ้าไม่กระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงหลักการและวัตถุประสงค์ของการออกพ.ร.ก.กู้เงินว่า เพื่อรับมือป้องกันและเยียวยาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืนยันว่ารัฐบาลได้กำหนดหลักการให้สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังและให้การใช้จ่ายเงินสอด คล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครง การก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการ ทำให้รัฐบาลมีทรัพยาการในการแก้ไขปัญหา ประชาชนมีสภาพคล่องมากขึ้นบรรเทาภาระหนี้ให้ภาคธุรกิจเพื่อจะไม่กระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่

รมว.คลัง กล่าวว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้รัฐบาลมีทรัพยากรในการดำเนินการด้านสาธารณสุข และมีกลไกในการเยียวยา นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินเสริมสภาพคล่องในต้นทุนตํ่า เพื่อบรรเทาภาระหนี้ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อ โดยยังคงรักษาสภาพการจ้างงานได้

 

‘อุตตม’ ยํ้า3พรก. พยุงเครื่องจักรศก.

 

“ส่วนกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF ซึ่ง เป็น 1 ใน 3 พ.ร.ก.จะเป็นกลไกเชิงป้องกันของรัฐบาล ในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ ประเทศ โดยการเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษามูลค่าเงินออมของประชาชน

 

ดังนั้น การตราพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับจะเป็นการรักษาศักยภาพเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไว้ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ หลังจากที่สถานการณ์การ ระบาดคลี่คลายดีขึ้น และยังเป็น การเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ และความพร้อมของทรัพยากรบุคคลที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองของเครื่องจักรให้พร้อมก้าวไปในโลกหลังโควิด-19 ซึ่งจะเป็นโลกที่มีความปกติใหม่ หรือ New Normal”

 

แนะใช้งบโปร่งใสตรวจสอบได้

หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อวุฒิสภา ด้านสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ อภิปรายชี้แนะว่า แผนใช้เงินต้องชัดเจน โปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ โดยนายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความโปร่งใส พร้อมเสนอให้ดึงภาคเอกชน ประชาชนมาร่วมตรวจสอบ ให้ทุกส่วนราชการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงแก้ปัญหาโควิด-19

นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า ประเทศยังมีปัญหาเรื่องการ กระจายอำนาจทั้งด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุขที่ยังไม่ทั่วถึง เพราะหากกระจายอำนานจะสามารถแก้วิกฤติต่างๆ ได้ พร้อมเสนอแนวทางการใช้เงินกู้จำนวน 4แสนล้านบาทต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ห้ามข้าราชการเข้าไปควบ คุม ครอบงำเงินจำนวนนี้ เพราะข้าราชการเป็นเพียงผู้อำนายความสะดวกให้กับประชาชน โครงการต้องมาจากชุมชนเท่านั้น รัฐบาลต้องใช้กลไกสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน และต้องให้ธนาคารของรัฐร่วมสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพที่ประสบความสำเร็จให้กับตนเองและครอบครัวเพื่อความยั่งยืน

 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวว่า ไม่ค่อยมั่นใจเรื่องการตั้งกรรมาธิการเพื่อติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะฝ่ายที่เข้าไปตรวจสอบคือรัฐบาลเอง ซึ่งสายวุฒิสภาน่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ดีกว่า และจะช่วยรัฐบาลอีกทางหนึ่งเพราะมีงานมาก อาจทำอะไรไม่ทั่วถึง พร้อมแนะใช้เงินกู้ไปในแนวทางที่สร้างต้นทุนและสามารถต่อยอด ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว อยากให้รัฐบาลใช้วิกฤติเป็นโอกาส นอกจากช่วยเหลือประชาชนแล้ว เช่น แจกเมล็ดพันธุ์พืชหรือสัตว์ให้ไปปลูกและเลี้ยง เพื่อให้ต่อยอดเป็นรายได้ประเทศ ตอบโจทย์ให้ไทยเป็นครัวของโลก

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อภิปรายว่า การเบิกจ่ายงบประมาณ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 และมาตรการเบิกจ่ายเงินต้องชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้น ตอน เพื่อป้องกันช่องว่างในการนำงบประมาณใช้กับโครงการที่ไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมต้องดำเนินการควบคู่กัน มาตรการเยียวยาในเขตเมืองและชนบทต้องเท่าเทียม 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,580 หน้า 10 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน 2563