“ต้องถามว่าทำไมต้องไปกังวลกับพรก.ฉุกเฉินมากนัก เราต้องดูที่ผลลัพท์การจัดการโรค จะกลัวพรก.ฉุกเฉิน หรือกลัวเชื้อโรคกันแน่”
นี่คือท่อนหนึ่งในคำชี้แจงของ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรณีที่มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งเป็นอำนาจภายใต้ของ พรก.ฉุกเฉิน หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ที่กำลังจะมีการเสนอต่อที่ประขุมศบค.ชุดใหญ่ วันจันทร์ที่ 29 มิ.ย. นี้ ให้ต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน
ในขณะที่กลุ่มและพรรคการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินเนื่องจากไม่พบเชื้อโควิด-19 จากคนในประเทศ พลเอกสมศักดิ์ อธิบายเรื่องนี้ว่า การไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศตลอดช่วงเวลา 30 กว่าวัน แสดงให้เห็นว่า พรก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกฎหมายนี้จึงยังคงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อยู่ เพราะในการประกาศกิจการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 5 หรือ คลายล็อกเฟส 5
ประกอบด้วยสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด และโรงเรียน ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงควรมีกฎหมายคอยกำกับดูแลไว้ หากจะบอกว่ามีพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อมาดูแลแล้ว ถือว่าไม่เพียงพอเพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อเหมาะใช้ในการแก้ปัญหากรณีมีการแพร่ระบาด แตกต่างจากพรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้สำหรับการป้องกันด้วย
“กฎหมายโรคติดต่อให้เฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการปฏิบัติงาน ไม่เพียงพอ กับสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ซึ่งต้องใช้ ตำรวจ และทหารเข้าไปร่วมด้วย หรือถ้ามีกฎหมายไหนที่ใช้ได้ดีกว่า พรก.ฉุกเฉิน ก็ขอให้บอกมาจะได้นำไปพิจารณาใช้ อยากบอกว่าอย่ารังเกียจรังงอนกับ พรก.ฉุกเฉิน นักเลย ตั้งแต่ยกเลิกเคอร์ฟิว สำหรับประชาชนทั่วไป กฎหมายนี้ไม่ได้ไปริดรอนสิทธิเสรีภาพใครเลย เราไม่ได้ใช้ในเรื่องการเมือง จะเห็นจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมามีการชุมชุมเคลื่อนไหวการเมืองหลายพื้นที่ ก็ไม่ได้นำพรก.ฉุกเฉินไปจับกุมหรือควบคุมใคร”
และเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา “กรุงเทพโพลล์” โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการโควิด-19”
พบว่าประชาชน 50.5% กังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในรอบ 2 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 49.5% กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
เมื่อถามอีกว่า พรก. ฉุกเฉินมีส่วนต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 มากน้อยเพียงใดพบว่า ส่วนใหญ่ 76.7% ระบุว่า มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 23.3% ระบุว่า มีส่วนต่อการควบคุมค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง