ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ PMOC โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คเกี่ยวกับ "เงินอุดหนุนบุตร"หรือ"เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด "ว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ในปี 2558 มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการที่สมวัย อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว
จากจุดเริ่มต้นได้จ่ายเงินอุดหนุนบุตรเดือนละ 400 บาท สำหรับเด็กที่เกิดระหว่าง 1ตุลาคม 2558 - 1 กันยายน 2559 หลังจากนั้นได้ปรับเพิ่มเป็น 600 บาท และขยายเวลาให้อุดหนุนเด็กแรกเกิด - 3ปี ต่อมาในปี 2562 ได้ขยายเวลาให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด - 6ปี และขยายฐานรายได้จากเดิม 3.6 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เป็น 1 แสนบาทต่อครอบครัวต่อคนต่อปี ซึ่งโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนี้ได้รับความชื่นชมจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย
ล่าสุดในเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดรอบเดือนกรกฎาคมจำนวน 600 บาทก็เพิ่งทยอยจ่ายไป ซึ่งในรอบเดือนกรกฎาคมนี้เอง มียอดผู้ส่งคำขอเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจำนวนจำนวน 1,617,534 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 970,520,400 บาท
นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเด็กแรกเกิด - 6 ปีอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ด้วย โดยจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาทภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่เพิ่งประชุมกันไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมก็เห็นชอบในหลักการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด - 6 ปีแบบถ้วนหน้า เป็นเงิน 600 บาทต่อเดือน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป
ส่วนสาเหตุที่ต้องให้แบบถ้วนหน้า ก็เพื่อแก้ปัญหาการตกหล่นของเด็กจากครอบครัวยากจนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 30 % ส่วนสาเหตุที่ทำให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการ หรือตกหล่น เพราะ คนจนไม่ได้สมัครเข้ามาเนื่องจากคิดว่าตัวเองไม่มีสิทธิ ,บางคนเอกสารไม่ครบ ,กระบวนการคัดเลือกยุ่งยาก,การตัดสินใจว่าใครจนไม่จนไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ,การเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิ
สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนแรกเกิดแบบถ้วนหน้า จะสามารถดูแลเด็กวัย 0-6 ปี จำนวน 4.1 ล้านคน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 1.99 ล้านคนที่จ่ายแบบปัจจุบันด้วยเกณฑ์รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้จำนวนเด็กจะค่อยๆลดลงเนื่องจากเด็กเกิดน้อยลง ทำให้มีที่ต้องจ่ายแบบถ้วนหน้า ประมาณ 3.8 ล้านคน ในปี 2570
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการที่ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และทำแผนการดำเนินงาน/งบประมาณกลับมาเสนอคณะกรรมการ กดยช. อีกครั้งก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป