กรณีกลุ่มนักศึกษาในนาม “แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อ “ทวงอำนาจคืนราษฎร”
แม้ผู้บริหาร ม.ธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายน 2563 เนื่องจากการขออนุญาตดังกล่าว ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มีการประกาศเรื่องแนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมือง
แต่แกนนำนำนักศึกษาก็ดูจะไม่สนคำสั่งห้ามดังกล่าว ยังประกาศที่จะจัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อไป
ยันชุมนุมท่าพระจันทร์
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แถลงข่าวถึงการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่จะจัดขึ้นภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ โดยทางกลุ่มได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่ และมีผู้ลงนามรับรองคือ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ แล้ว จากนั้นให้นำกลับไปแก้ไข 1 ครั้ง แต่ก็ไม่อณุญาตให้ใช้พื้นที่อีก
“จึงวิงวอน รศ.ดร.เกศิณี วิฑูรชาติ อธิการบดี ว่าคงไม่ลืมจิต วิญญาณของธรรมศาสตร์ โดยในวันที่ 19 กันยายน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็น ต้นไป ทางกลุ่มและผู้ชุมนุมจะเดินทางมาที่นี่ หากมีการล็อกแม่กุญแจ ก็จะมีการตัดเข้าไป ทั้งนี้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยทบทวนถึงความเป็นธรรมศาสตร์ จิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความอยุติธรรม”
ขณะที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ระบุเช่นกันว่า “ถึงแม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในการชุมนุม เราก็จะจัดการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์กันต่อไป เพราะธรรมศาสตร์เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของขี้ข้ารับใช้เผด็จการไม่กี่คน”
“คณะก้าวหน้า”ระดมคน
ด้านความเคลื่อนไหวในการ เตรียมคนเข้ามาร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายนนั้น เมื่อวันที 11 กันยายน 2563 เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า-Progressive Movement ของ “คณะก้าวหน้า” ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็น ประธาน และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการ ได้โพสต์ข้อความ โดยมีรายละเอียดว่า
“บนเส้นทางประชาธิปไตย ที่เดินมา 88 ปี ใกล้ถึงเส้นชัยเต็มที 19 กันยายนนี้ ในวันที่ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ใครมีรถ อยากหาเพื่อนร่วมทาง ใครมีเพื่อนร่วมทาง แต่ยังไม่มีรถ ใครยังไม่มีอะไรเลย แต่มีใจรักที่จะมาร่วมชุมนุมกับผองเพื่อน คณะก้าวหน้าขอมีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน ด้วยการเปิดพื้นที่สำหรับการ car pool แชร์รถ แชร์ค่าเดินทาง เพื่อมาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ ทางเดียวกัน มาด้วยกัน สู่เส้นชัยในวันที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แชร์กันตามสะดวกในคอมเมนต์ ของโพสต์นี้ เริ่ม!”
ยก 5 ประเด็นขวางยึดมธ.
ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะศิษย์เก่ารุ่น 12 แถลงคัดค้านการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน
โดยนายแก้วสรร อ่านแถลงการณ์ที่จะส่งถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารม.ธรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหา ระบุว่า
ด้วยบรรดาศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ผู้ที่มีรายนามท้ายบันทึก ได้พร้อมกันเล็งเห็นว่า นักศึกษา “แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ไม่มีทั้งความโปร่งใส, ความรับผิดชอบ และ ความสามารถ ที่จะจัดชุมนุมโดยสงบสมตามที่กล่าวอ้างได้ จึงขอเรียนไปยังผู้ที่รับผิดชอบ ได้โปรดพิจารณามีคำสั่งปฏิเสธ คำขอใช้พื้นที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยของนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย ตามเหตุผลดังนี้
1. เป้าประสงค์ : กลุ่มนักศึกษาผู้ขอจัดการชุมนุม แถลงยืนยันไว้ชัดเจนว่า จะเปิดชุมนุมนักศึกษาและประชาชน 1 วัน 1 คืน จากนั้นจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ 40,000 คนขึ้นไป เพื่อ “ต่อสู้สร้างแผลให้เผด็จการอย่างไม่รู้ลืม” และสัญญาว่า “พี่น้องจะไม่กลับมือเปล่าอย่างแน่นอน”
2. สงบแต่ปาก : ขบวนที่จะมารวมและยกไปทำเนียบนี้ กลุ่มศิษย์เก่ากลุ่มนี้เห็นว่า มีคุณภาพเป็นมวลชนแห่งความจงเกลียดจงชัง ที่ผ่านการปลุกปั่นมายาวนานในโลกไซเบอร์ ซึ่งเมื่อออกจากทวิตเตอร์มารวมตัวกันจริงๆ บน ท้องถนนแล้ว ก็ยิ่งจะก้าวร้าวราวกับเร้ดการ์ด จนยากที่จะเชื่อ หรือหวังในความสงบและการเจรจากันเช่นวิถีทางประชาธิปไตยได้
3. สุ่มเสี่ยงสูงสุด : สำหรับความสามารถและความรับผิดชอบนั้น ก็มองไม่เห็นเลยว่า นักศึกษากลุ่มนี้จะมีความสมารถในการนำ ควบคุม จัดการ คุ้มครอง ผู้ชุมนุมได้อย่างไร เห็นมีแต่ความสามารถทางวาทกรรมเท่านั้น คำกล่าวที่ว่าจะชุมนุมโดยสงบจึงเป็นเรื่องเกินศักยภาพทั้งสิ้น ยิ่งวางแผนว่าจะเทม็อบ 40,000 คน ใส่ทำเนียบรัฐบาลด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าห่วงว่า จะได้เห็นร่างวีรชนต้องจากไปอีกหลายคนเหมือน คราวม็อบพฤษภาทมิฬอีก
4. ไว้วางใจไม่ได้ : ท้ายที่สุดกลุ่มศิษย์เก่าเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่นักศึกษากลุ่มนี้ จะมีการนำและการจัดการโดยอิสระลำพังกลุ่มตนเองได้ แทนที่นักศึกษาและคนพวกนี้จะกล้าประกาศรวมตัวให้ปรากฏเป็น “แนวร่วมต่อต้านเผด็จการ” ที่โปร่งใสชัดเจน ชัดทั้งการนำและอิสระทางการเมือง ตลอดจนที่มาของค่าใช้จ่ายและจุดแห่งชัยชนะที่ต้องการ
พวกเขากลับดันให้เด็กนักศึกษาของเราไม่กี่คนมาออกหน้า ความลับๆ ล่อๆ เช่นนี้ เป็นไปแล้วและเป็นไปได้ ก็ด้วยเหตุที่กฎหมายชุมนุมสาธารณะได้ยกเว้นไว้ ไม่ให้นำมาตรการตรวจสอบมาใช้กับกาชุมนุมในสถานศึกษา จนเปิดช่องให้มีการวางแผนเลี่ยงกฎหมาย โดยขอจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซ่องสุมกำลังก่อน แล้วยกขบวนออกไปอาละวาดนอกมหาวิทยาลัยต่อไป
5. ธรรมศาสตร์มีส่วนร่วมด้วยไม่ได้ : ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ศิษย์เก่าท้ายบันทึกดังกล่าวจึงเห็นว่าคำขอจัดชุมนุมครั้งนี้ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่มีความสามารถและความรับผิดชอบที่ตํ่ากว่ามาตรฐานประชาธิปไตย จนไม่อาจรับรองให้ชุมนุมโดยอิสระในสถานศึกษาได้
นายแก้วสรร กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีกระบวนการลงชื่อท้ายหนังสือดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลาร่วมลงชื่อจนถึงวันอังคารที่ 15 กันยายนนี้ เวลา 16.00 น. ก่อนที่จะนำไปยื่นต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย พร้อมยืนยันว่าคณะที่ออกมาคัดค้านมาในนามศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ในนามธรรมศาสตร์ทั้งหมด
“สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับ การใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นสิทธิการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าไม่เห็นด้วยที่จะใช้มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เป็นฐานทัพในการละเมิดรัฐธรรมนูญ” นายแก้วสรร ระบุ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,609 หน้า 12 วันที่ 13 - 16 กันยายน 2563