15 ตุลาคม 2563 กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป พร้อมทั้งคำสั่ง ข้อกำหนด และประกาศที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
ประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบพบว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 และมาตรา 12 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งในมาตรา 18 บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สาระสำคัญของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อย ของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่รุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิ์ผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม
คำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มอบหมายให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติตามสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามกำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยุติลงได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดไว้ดังนี้
1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
2.ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
4.ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใดๆ และให้ออกจากอาคารหรือสถานที่ใดๆ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
5. ในการดำเนินการตามข้อ 1-4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฎิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฎิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
ประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีสาระสำคัญคือ
1. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วม กระทําการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทําเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจําเป็นเพื่อป้องกัน มิให้บุคคลนั้นกระทําการหรือร่วมมือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิด ความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558
2. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
3. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งยึดหรืออายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทําการ ส่งเสริม หรือสนับสนุนการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจออกคําสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทําลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจําเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรง ให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทําให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นได้ทันท่วงที
5. ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอํานาจสั่งห้ามมิให้บุคคลกระทําการใด ๆ หรือสั่งให้กระทํา การหรืองดเว้นกระทําการใด ๆ เท่าที่จําเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
6. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งการ ห้ามกระทําการอย่างใด ๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทําการอื่นใดที่ทําให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในเขตพื้นที่ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
7. ในการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้ใช้มาตรการตามความจําเป็น และเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบมีอํานาจกําหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการใช้อํานาจของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามประกาศนี้ได้ตามที่เห็นสมควร