“โควิด-ม็อบ” ปัจจัยลบซ้ำซ้อนทุบเศรษฐกิจไทย

17 ต.ค. 2563 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2563 | 08:32 น.

เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนซวนเซ กำลังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการชุมนุมประท้วงที่ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เวลา 04.00 น. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว

 

รายงานการวิจัยของธนาคารมิซูโฮระบุว่า การชุมนุมประท้วง และอุณหภูมิการเมืองที่สูงขึ้นหลังจากที่มี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จะส่ง ผลกระทบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจของไทย ที่อยู่ในภาวะซวนเซอยู่แล้วจากผลกระทบของโควิด-19 และด้วยเหตุนี้ ธนาคารมิซูโฮจึงปรับลดตัวเลขคาดหมายเกี่ยวกับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ทั้งปี จากเดิมที่คาดว่าจะมีการหดตัวที่อัตรา -6.3% ก็ปรับลดลงไปอีกเป็น -7.5%

 

“โควิด-ม็อบ” ปัจจัยลบซ้ำซ้อนทุบเศรษฐกิจไทย

บทวิเคราะห์ของธนาคารมิซูโฮระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในสังคมไทยครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกและสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างยิ่งดูย่ำแย่มากขึ้นเป็นเท่าตัว กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ ภาคธุรกิจเอกชนที่อ่อนแอลง และมีการลงทุนลดลง ใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นหัวจักรใหญ่ในการสร้างรายได้เข้าประเทศและสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็กำลังบอบช้ำจากทั้งสองปัจจัยลบดังกล่าว

 

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และเนื่องจากมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี่จึงเป็นปัจจัยลบซ้ำซ้อนที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้” บทวิเคราะห์ของธนาคารมิซูโฮระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประมวลภาพ ม็อบคณะราษฎร 17 ตุลาคม

อัปเดตสถานการณ์ชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 17 ตุลาคม 2563 ยุติการชุมนุมก่อนเวลา 20.00 น.

สื่อเทศมอง “ม็อบ 14 ตุลา”  ประเทศไทยที่เปลี่ยนไป

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐยังรายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ต.ค.) ของนายมาร์ค โมเบียส  ผู้จัดการกองทุนตลาดเกิดใหม่ และผู้ก่อตั้งบริษัทโมเบียส แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส ซึ่งได้รับสมญานามว่า “ราชาตลาดหุ้นเกิดใหม่” ที่ระบุว่า ไทยกำลังเผชิญสถานการณ์คับขัน ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของไทย และถ้าหากว่ามีความไม่สงบทางสังคมเกิดขึ้น การท่องเที่ยวก็จะไม่เดินหน้า แล้วนั่นก็จะเป็นปัญหาที่แท้จริง

ด้านรศ.ดร.ฐิตินันนท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นในรายการ “Street Signs” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ว่าสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ไม่อาจจะฉุดรั้งได้แล้ว “เราไม่เคยได้เห็นการประท้วงแบบนี้มาก่อน มวลชนออกไปเรียกร้องบนท้องถนนอย่างมุ่งมั่นและไม่หวาดหวั่นอะไรเลยแม้จะมีพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯที่ห้ามการชุมนุมก็ตาม พวกเขามีความมุ่งมั่นแน่วแน่ และคงจะไม่ถอย ไม่เลิกชุมนุม จนกว่าพวกเขาจะได้เห็นประเทศไทยในรูปแบบใหม่”  

 

รศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่าอยู่ในภาวะชะงักงัน จากการที่รัฐบาลออกแรงผลักดันไม่มากพอและยังบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาด

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สำนักวิจัยธนาคารโนมูระ เคยเผยแพร่รายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่การชุมนุมประท้วงก็อาจจะทำให้การฟื้นตัวนั้นต้องพังครืน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ธนาคารโนมูระมองว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้นต้องจับตามองอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้น่าจะติดลบที่อัตรา -7.6%

 

“ไทยควบคุมโควิดได้ค่อนข้างดีมาก แต่การประท้วงอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้า ถ้าไม่ถึงกับหยุดชะงัก” นายยูเบน พาราซูเอลเลส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโนมูระ ประจำภูมิภาคอาเซียน ให้ความเห็นกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี พร้อมทั้งขยายความว่า เท่าที่ผ่านมาในอดีต ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มักจะส่งผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อความรู้สึกของภาคธุรกิจและผลกระทบต่อการใช้จ่ายด้านการลงทุนในภาพรวม “นอกจากนี้ มันยังอาจจะส่งผลต่อนโยบายที่สำคัญ ๆ ทางการเงินการคลังอีกด้วย”  

“โควิด-ม็อบ” ปัจจัยลบซ้ำซ้อนทุบเศรษฐกิจไทย

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโนมูระ ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยนั้นมีปัญหาทางด้านโครงสร้างมายืดเยื้อยาวนานก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว เช่นการที่เศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากจนเกินไป  และแม้ว่ารัฐบาลจะรับมือกับโควิด-19 ได้ค่อนข้างดีมาก แต่ก็เห็นได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยคงยังไม่พลิกฟื้นคืนสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ซึ่งนั่นจะสร้างปัญหาอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่มีหลากหลายความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยหรือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน   

 

อย่างไรก็ตามเขามองว่า รัฐบาลไทยยังคงมีเครื่องมือทางการคลังที่จะนำมาใช้ ซึ่งปัญหาอยู่ที่วิธีการใช้มากกว่า และท่ามกลางบริบทที่มีการชุมนุมประท้วงซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลไทยจะหันไปใช้มาตรการทางการคลังแบบประชานิยมเป็นเครื่องมือในการสร้างความพึ่งพอใจให้กับมวลชน “ซึ่ง ณ จุดนี้ก็บอกได้ยากว่า หากนำนโยบายแบบนั้นมาใช้จะประสบผลมากน้อยเพียงใด”  

 

พาราซูเอลเลส ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า หากพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม จะเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปสถาบันซึ่งประเด็นหลังนี้ ไม่เคยมีการพูดถึงอย่างเปิดเผยมาก่อนในประเทศไทย “ดังนั้นในความเห็นของผม นี่คือสิ่งที่จะยังคงอยู่ไปอีกแบบลากยาว การเมืองไทยจะเจอทางตันไปอีกนาน”

 

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (16 ต.ค.) ว่า การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลไทยในเวลานี้อาจทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียที่มีผลดำเนินการย่ำแย่ที่สุดสำหรับปีนี้ ต้องดำดิ่งลงไปอีก เนื่องจากนักลงทุนกำลังวิตกกันว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเวลานี้ อาจเพิ่มเติมปัจจัยเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำอยู่แล้วเนื่องจากพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากจนเกินไป  

 

รายงานข่าวระบุว่า สัปดาห์นี้ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่มีการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องรายวัน  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลงมา 2.6% แล้ว ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆในเอเชีย และถ้าหากจะนับจากต้นปีมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลงมาถึง 22% นอกจากนั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เงินทุนไหลออกจากตลาดยังทำสถิติสูงถึง 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อมูลอ้างอิง

Protests in Thailand are a ‘double whammy’ for the economy, which is reeling from Covid-19

Protests in Thailand could ‘derail’ its economic recovery from Covid-19, warns Nomura

Investors keep wary eye on Thai protests as stock market slips