21 ตุลาคม 2563 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมติให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ว่า ต้องขอขอบคุณนายชวน หลีกภัย ประธานผู้แทนราษฎรที่ได้เชิญตัวแทนของรัฐบาล ตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่วมหารือนอกรอบจนมีข้อยุติมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563
และต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สนับสนุนให้มีมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายที่ต้องการใช้การประชุมรัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางออกให้กับประเทศ แต่สำหรับการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในครั้งนี้ ขอเสนอให้มีการพิจารณาปัญหาสำคัญของประเทศชาติใน 2 เรื่องคือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
22 ตุลาฯลุ้นศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งเพิกถอนพรก.ฉุกเฉิน
ครม.ไฟเขียว "ไทย-รัสเซีย"ยกระดับความร่วมมือการค้า-ลงทุน
สรุป "ไม่มี BIG-SURPRISE" ม็อบ 20 ตุลา "คณะราษฎร"สับขาหลอก
ขรก.ระมัดระวังการใช้โซเชียลแสดงความเห็นการเมือง
1.ให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายและเพื่อให้เวทีการประชุมรัฐสภาเป็นกลไกในระบอบประชาธิปไตย แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ
2.ให้มีการพิจารณาญัตติร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ขึ้นมาพิจารณาลงมติรับหลักการวาระ1ในสมัยประชุมวิสามัญนี้ เพื่อสนองต่อข้อเรียกร้องของการชุมนุมในเบื้องต้น
ส่วนกรณีที่มีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีดำริจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯในเร็วๆนี้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร2563 เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ไม่มีความรุนแรง ใช้เวลาชุมนุมระยะสั้นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯในการควบคุมการชุมนุม
2.มีการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลแพ่ง ถ้าหากรัฐบาลประกาศยกเลิก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯก่อน ก็จะทำให้คำฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นอันตกไป
3.จะมีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลยังคงประกาศใช้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯอยู่ ก็อาจจะถูกข้อกล่าวหาว่า การประชุมรัฐสภา เป็นการฝ่าฝืนต่อการประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป
ดังนั้น เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว มีการใช้กฎหมายอาญาทั่วไปจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย รัฐบาลควรตัดสินใจประกาศยกเลิกการใช้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯโดยเร็วที่สุด