นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้หยุดยาว ทำให้ตนมีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพบปะพี่น้องประชาชนชาวใต้ ที่ประสบอุทกภัยนํ้าท่วมในหลายจังหวัด พร้อมกับรับฟังมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อรัฐบาลเหมือนอย่างเคย เพื่อนำมาเสนอต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้ง ประเทศว่า พี่น้องชาวใต้มีความเห็นอย่างไร ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจในสิ่งที่ตนได้ยิน จากคำพูดของพี่น้องชาวใต้ ซึ่งพอที่จะสรุปอกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. พี่น้องชาวใต้ที่ประสบอุทกภัย เข้าใจว่าเป็นภัยธรรมชาติ และเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ซึ่งยากยิ่งต่อการป้องกัน และได้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลที่พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มกำลัง จึงขอส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยในทุกภาคที่ประสบปัญหาจากภัยนํ้าท่วม มีความอดทน และเราจะฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน
2.แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเปิดเผยข้อมูลจากนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมลํ้าพุ่งขึ้นในรอบ 10 ปี รวยจนห่างกันสูงสุดถึง 20 เท่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เพิ่มทะลุถึง 80% คนจนมีโอกาสเรียนป.ตรี แค่ 3% ขณะที่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดเข้ามาในประเทศ เกิดการย้ายฐานการผลิตทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมาก
ประกอบกับรายงานข่าวว่าธนาคารโลกเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในภาวะวิกฤต ผู้มีรายได้น้อย คนไม่มีรายได้ พุ่งขึ้น 40 ล้านคน หรือเกือบ 2 ใน3 ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งยังระบุว่ารัฐบาลนี้สร้างหนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจไทยก็เจ๊งหนักที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
จะหวังพึ่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจัดสรรโดยรัฐ ก็อาจจะไม่มีบริษัทต่างชาติสนใจเพราะไม่มีความโปร่งใส หาข้อยุติที่สามารถเชื่อถือไม่ได้ เช่น กรณีโฮปเวลล์ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาจนเป็นที่สุดแล้ว ให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหาย แต่รัฐบาลมิได้แสดงเจตนาที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา
“เรื่องนี้ผมสามารถอธิบายให้กับพี่น้องชาวใต้ทราบได้ เพราะผมเป็นประธานกรรมาธิการ การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาจบแล้ว และได้ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาแก้ไขเป็นการด่วน หากล่าช้าอาจจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนจากนักธุรกิจต่างประเทศ นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอีกเช่นกันว่า พี่น้องชาวใต้นั้นให้ความสนใจ และคอยจับตามองการบริหารประเทศเป็นอย่างมาก”
3. ปัญหาการชุมนุมที่รัฐบาลยังคงแก้ไขไม่ได้ อันจะส่งผลกระทบถึงความไม่มั่นใจในบรรยากาศของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งผมเคยให้สัมภาษณ์มาครั้งหนึ่งแล้วว่า ประชาธิปไตยนั้นต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล หรือของใคร พร้อมกับได้ยกตัวอย่างถึงประเทศอิตาลีว่า เขาเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยมาก แต่ไม่มีการปฏิวัติ แสดงให้เห็นว่าความมั่นคงของประเทศ คือความศักสิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน
แต่สำหรับประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ถึง 20 ฉบับ แต่วันนี้เรากำลังจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับที่ 21 ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องร่างฉบับที่ 22 อีกในอนาคต
“ผมเองได้ให้สัญญากับพี่น้องชาวใต้ว่า ในเร็ววันนี้ ผมจะเสนอแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยผมเชื่อว่าหากเราเขียนรัฐธรรมนูญให้ “สภาเป็นของประชาชน” ไม่ให้สภาเป็นของนายทุนที่บริหารประเทศด้วยการยกมือของเสียงข้างมาก โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การซื้อเสียง การแบ่งฝ่ายกันอย่างไม่มีเหตุผล และสำหรับวันนี้ ผมจะขอเริ่มจัดตั้ง “สภาประชาชนแดนใต้” ร่วมกับพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นำร่องไปก่อน เพื่อเป็นต้นแบบ โดยเมื่อจัดตั้งเสร็จแล้ว ทุกปัญหาในพื้นที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาประชาชนแดนใต้ เพื่อที่จะส่งต่อเรื่องไปยังสภาของประชาชนในรัฐสภาต่อไป” นายอันวาร์ ระบุ