นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อเนื่องการเซ็นสัญญาลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนครั้งใหญ่ พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ที่เพิ่งลุล่วงเสร็จสิ้น ได้กลายเป็นแม่เหล็กพลังมหาศาล คาดหลังจากนี้ก่อให้เกิดภาพการไหลเข้าของเม็ดเงินการลงทุนในด้านต่างๆ สู่พื้นที่โซนตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังจะส่งเสริมขยายการเติบโตของที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดอีอีซี คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สะท้อนว่า การเซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง เปรียบเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาโซนภาคตะวันออกอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทำเลรอบๆสถานีหลัก มีศักยภาพมากขึ้น พร้อมเชื่อว่า จะเกิดการเข้าไปจับจองที่ดินโดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรอพัฒนาโครงการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโซนหลัก ซึ่งเดิมมีความคึกคักสูงอยู่แล้ว เช่น ศรีราชา พัทยา ของจังหวัดชลบุรี พื้นที่ขายดีในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม
ขณะจังหวัดระยอง คาดรูปแบบการพัฒนากลุ่มที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์ขนาดเล็ก รองรับกลุ่มคนที่อาศัยและทำงานอยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรม อนาคตอาจเป็นเป็นบ้านเดี่ยวที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มคนทำงานระดับหัวหน้าชั้นปานกลาง-สูง ที่จะโยกย้ายเข้ามาอาศัยในพื้นที่มากขึ้นจากธุรกิจใหม่ๆ เช่นเดียวกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เริ่มเห็นการพัฒนาพื้นที่ในกลุ่มที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาที่ดิน พบปัจจุบันยังไม่ได้หวือหวามากนัก เนื่องจากก่อนหน้ามีการก้าวกระโดดอย่างสูงไปแล้ว แต่คาดว่าหลังจากนี้เจ้าของที่ดินที่ถือครองที่ดินไว้จำนวนมากจะทยอยนำที่ดินออกมาสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อรับโอกาสประกอบกับจะมีการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นทุนเสียเปล่าจึงต้องการขายออก กลายเป็นโอกาสของผู้พัฒนาอสังหาฯในการเลือกเฟ้นที่ดินรองรับแผนการลงทุนในอนาคตของตนเอง
“ปัจจุบัน ไม่ว่าจะคอนโดฯ หรือบ้านในโซนอีอีซี ราคาโดยเฉลี่ย จะแพงกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว คาดในอนาคตเมื่อรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ การเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยว นักลงทุนซื้อปล่อยเช่า จะทำให้ราคาบ้าน คอนโดฯ มีโอกาสสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 3-5 ล้านบาท น่าจะขายดี”
ทั้งนี้ มองว่าปัญหาที่ยังเป็นข้อจำกัดของรถไฟความเร็วสูง ยังไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาล ต่อแผนการวางระบบฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานี, ตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯยังไม่กล้าเข้ามาลงทุนคึกคักเท่าที่ควร
หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,518 วันที่ 31ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562