หลังตีความภาษีที่ดิน โฮมสเตย์ เทียบเท่าโรงแรม-ที่ดิน นส.3 นส.3 ก ส.ป.ก.4-01 ไม่ใช่โฉนด โขกภาษีตั้งแต่บาทแรก แม้เป็นที่เกษตร บ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ตาม 3 สมาคมบ้าน เตรียมยื่นจดหมายขอทบทวน ก่อนจัดเก็บในเดือนสิงหาคมนี้
หลายประเด็นยังเป็นปมคาใจสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนเจ้าของที่ดิน กรณีการตีความทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายเรียกเก็บภาษี ที่ดิน ล่าสุด หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสมาคมการค้าเครือข่ายจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ไขข้อข้องใจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” สะท้อนผลกระทบในทางปฏิบัติเพื่อขอทบทวนต่อหน่วยงานภาครัฐ ก่อน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดเก็บภาษีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ จากการตั้งข้อสังเกตของนายกิติพงศ์ อุรพี-พัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนักกฎหมายระบุ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีหลายประเด็นไม่ชัดเจนในการตีความ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ครอบครองที่ดิน อาทิ การตีความเกี่ยวกับบริการแบบโฮมสเตย์ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่เปิดบริการ แบ่งห้องให้เข้ามาพักสัปดาห์ละ 2-3 วัน เรื่องนี้จะนิยามหรือให้คำจำกัดความอย่างไร เพราะมีจุดที่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน หากตีความเป็นโรงแรม
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะส่งผลกระทบ ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการตีความเกี่ยวกับที่ดินประเภท นส.3 กับนส.3 ก รวมไปถึงที่ดินส.ป.ก.4-01 ที่ทางกระทรวงการคลังตีความว่าจะไม่ได้รับการยกเว้นมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ตามกลุ่มเข้าข่ายที่ดินเกษตร เพราะการที่จะได้รับการยกเว้นมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทนั้น ที่ดินที่ถือครองจะต้องมีโฉนดเท่านั้น ส่งผลทำให้ที่ดินจำนวนมากในประเทศไทยที่ถือครองโดยประชาชนคนธรรมดา และเป็นที่ดินประเภท นส.3 กับนส.3 ก อาจจะต้องเข้าข่ายเสียภาษี ในอัตรา 0.01% ซึ่งในทางนักกฎหมายที่ตีความจากตัวบทกฎหมายการถือครองที่ดิน ไม่เพียงเฉพาะเป็นการออกโฉนดแต่ควรรวมไปถึงผู้ได้ครอบครองที่ดินก็ถือสิทธิเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เผยว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงและผู้ประกอบการเพิ่งรับทราบคือการเรียกจัดเก็บภาษีที่ดินกับที่ดินนส.3 และนส.3 ก อาจส่งผลกระทบ กับผู้ประกอบการอสังหาฯในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่พัฒนาโครงการตั้งแต่ก่อนปี 2543 ตามกฎหมายระบุว่าไม่ต้องยื่นขออนุญาตจัดสรร แต่หลังจากปี 2543 เป็นต้นมาต้องยื่นขออนุญาตจัดสรร ทางออกสมาคมที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหารือกัน และอาจจะทำหนังสือถึงภาครัฐให้ทบทวน
ด้านนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวให้ความเห็นสอดคล้องกันในประเด็นการตีความที่ดินที่ถือครองระหว่างโฉนด กับที่ดินประเภท นส.3 กับนส.3 ก ซึ่งทั้ง 3 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมถึงหอการค้าไทย จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาล และกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการพิจารณาตีความ ซึ่งน่าจะมีการทบทวนการตีความใหม่ เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างกับประชาชน และเชื่อว่ายังมีผู้ที่ยังไม่มีความรู้อีกมาก
ส่วน นายวสันต์ เคียงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เผยว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาทำให้นักพัฒนาอสังหาฯ จะต้องบริการจัดการสต๊อก ทั้งสต๊อกเก่า และโครงการใหม่ ซึ่งจะต้องขายให้หมดภายใน 3 ปี เพื่อลดภาระต้นทุนการเสียภาษี นอกจากนี้ การเสียภาษีตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจส่งผลกระทบเพิ่มความเหลื่อมลํ้าในการเสียภาษี จากเกณฑ์การจัดเก็บตาม “มูลค่า” จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่าง เดียวโดยไม่มีการคำนึงถึงอัตรา “รายได้” ของผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่นำเรื่อง “รายได้” มาพิจารณาควบคู่กับ “มูลค่า”
7,000 ท้องถิ่น เตรียมพร้อม
นายสันติธร ยิ้มละมัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ทั่วประเทศจำนวนกว่า 7,000 แห่ง ได้เร่งเตรียมความพร้อมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในทุกจังหวัด ทั้งมีคู่มือแนวทางการปฏิบัติงาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเจรจากับธนาคารกรุงไทย เพื่อเพิ่มช่องทางในการชำระเงิน
สำหรับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร เลขานุการกรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่า มีผลบังคับใช้เต็ม 100% หมายความว่า ภาระภาษีเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ขยายระยะเวลาการจัดเก็บออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จากเดิมพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้ผู้ถือครองที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง มาชำระภาษีภายในเดือนเมษายน 2563 และทางกระทรวงมหาดไทยประกาศขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่การจัดเก็บออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563
ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีเวลาเตรียมตัวในการจัดเก็บมากขึ้น จากเดิมที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ราว 900 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาษีโรงเรือนจัดเก็บได้เกิน 29,000 ล้านบาท จึงควรแก้ไขจุดบกพร่องและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ทั้งลดความเหลื่อมลํ้าให้ประชาชนด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่การ “ยกเลิก” ตามที่มีข่าวลือเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า ส่วนกฎหมายลูกที่เหลือ 2 ฉบับนั้นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ส่วนกฎหมายลูกฉบับอื่นๆ ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดเช่นกัน
สำหรับหลักการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นการจัดเก็บตาม “มูลค่าของทรัพย์สิน” เป็นฐานการคำนวณภาษี และใช้ราคาประเมินจากกรมธนารักษ์เป็นฐานในการคิด โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ส่วนผู้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนดให้ “เจ้าของ” เท่านั้นเป็นผู้เสียภาษี กรณีที่ดินมีเจ้าของหลายคน จะยึดชื่อแรกของโฉนดที่ดินเป็นผู้เสียภาษี อีกทั้งกฎหมายนี้ยังรวมถึงผู้ครอบครองไปยังที่ดินของรัฐ ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้ประโยชน์บนที่ดินรัฐจะต้องเป็นผู้เสียภาษีเช่นกัน
ด้านนางสาววิลาวัลย์ วีระกุล รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบราคาประเมินที่ดินด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ (www.treasury.go.th) สำหรับรอบการตรวจสอบราคาประเมินนั้นยังคงรอบบัญชีปี 2559-2562 ไปก่อน ส่วนราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ปี 2563 จะประกาศใช้ในปี 2564 โดยทางกรมจะส่งข้อมูลให้อปท.ประมาณเดือนพฤศจิกายนเพื่อบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2564
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563