เกือบ 20 ปี สำหรับเสาตอม่อ ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างพร้อมกับถนน ประเสริฐมนูกิจ (หรือเกษตร-นวมินทร์) ของกรุงเทพมหานครรองรับ โครงการทางด่วนขั้น 3 สายเหนือในอนาคต เพื่อไม่ต้องเสียเวลาขุดเจาะใหม่เมื่อถึงเวลาก่อสร้างจริง แต่จนแล้วจนรอด ไม่มีทีท่าได้ลงมือก่อสร้างเนื่องจากติดปัญหางบประมาณ การเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองบ่อยครั้ง การปรับเปลี่ยนนโยบายก่อสร้างโครงการระหว่างทางด่วนกับรถไฟฟ้า และปัญหาการคัดค้านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องความปลอดภัยและปัญหามลพิษ
นายชาตรี ตันศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างทางพิเศษ รักษาการรองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้น ขณะนี้ที่ประชุมได้เชิญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมหารือหลังจากพบว่ามีความเห็นบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กทพ.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กลับไปหารือเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากกทพ.มีแนวคิดสร้างหลังคาโดมครอบทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ซึ่งเป็นระบบป้องกันในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อควบคุมมลภาวะทางเสียงและอากาศ รวมถึงลดการเกิดปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 เหมือนต่างประเทศ วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบรรยากาศเป็นที่น่าพอใจและเตรียมนัดเจรจาภายใน 3 สัปดาห์ นับจากนี้
สำหรับแนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันบริเวณ มก.มี 2 เส้นทาง ซึ่งเป็นทางยกระดับอยู่แล้ว หากจะสร้างอุโมงค์ทางลอดจะทำให้ระยะทางในการขุดเจาะอุโมงค์ลึกลงไป อาจกระทบระบบสาธารณูปโภคใต้ดินรวมถึงบริเวณนั้นจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินค่อนข้างมาก ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหว ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะทำอุโมงค์ทางลอด เพราะแนวคิดที่ กทพ.เสนอถือเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดแล้ว
ส่วนการเวนคืนที่ดินจากการสำรวจบริเวณมก.พบว่า แนวคิดนี้ไม่มีการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว แต่บริเวณแนวเส้นทางอื่นๆจะต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมว่าจะมีการเวนคืนที่ดินหรือไม่
ขณะเดียวกันที่ประชุมมีความเห็นให้โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1 ควรใช้แนวเส้นทางเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี เนื่องจากบริเวณ มก.ช่วงถนนงามวงศ์วานเชื่อมต่อวิภาวดีรังสิต พบว่ามีตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี จำนวน 17 ฐาน ภายในพื้นที่ของมก. ซึ่งเป็นแนวเส้นทางใกล้ที่สุดในการดำเนินโครงการดังกล่าว เบื้องต้นที่ประชุมเน้นย้ำให้ กทพ.ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่มก.ยังมีความกังวล
“ที่ผ่านมา มก.เห็นด้วยกับหลักการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แต่ต้องรอดูการวางฐานตอม่อและบริเวณที่ต้องวางตอม่อว่ามีบริเวณใดบ้าง”
หากมก.เห็นชอบ จะเริ่มจัดทำรายงานการประเมินผกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)และออกแบบภายในปีนี้ ซึ่งระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับ มก. เป็นผู้ตัดสินใจขณะเดียวกันหากสามารถดำเนินการโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1 ได้ จะทำให้ลดการจราจรติดขัด เนื่องจากทางด่วนเส้นทางนี้เป็นเส้นทางช่วง East-West Corridor ที่เชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก หากทางด่วนเส้นทางนี้เชื่อมต่อระหว่างกันได้ ทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้ทางด่วนบริเวณหมอชิต-วิภาวดี ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการจราจรดีขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณเส้นทางสายเหนือสามารถเดินทางสะดวกมากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่ถึงชั่วโมง
หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563