นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปิดประตูตลาดคอนโดฯใหม่สนิท อีกทั้งปรากฎการณ์ ดีเวลลอปเปอร์เชือดเนื้อลดกำไร ดันสต๊อกเก่า โกยยอดขายถล่ม ได้ตอกย้ำความจริง “ราคาต่ำขายดี ราคาสูงขายยาก” แล้วนั้น พบความกังวลเรื่องโรคระบาดในอนาคต ปัจจัยความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และรายได้ ยังเป็นตัวสร้างความคึกคักให้กับตลาดแนวราบอย่างมาก โดยเฉพาะโปรดักต์ทาวน์เฮาส์ หรือ ทาวน์โฮม ซึ่งเติบโตโดดเด่น ตามส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้ามาก่อนแล้วนาน 2 ปี แต่ปรากฏการณ์ ดีมานด์ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนลูกค้าหาสินค้าทดแทนโปรดักต์คอนโดฯ ราคาใกล้เคียงช่วงโควิด ได้กลายเป็นตัวเร่ง ให้ตลาดบลูโอเชี่ยน เริ่มร้อนแรงอย่างมีนัยผ่านการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ณ สิ้นครึ่งปีแรก 2563 ในสัดส่วนถึงประมาณ 51% ของตลาดแนวราบที่มีมูลค่าถึง 4.42 แสนล้านบาท
สอดคล้อง นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตราบใดที่ตลาดคอนโดฯ กทม.-ปริมลฑล ยังชะลอความร้อนแรง และรอปรับฐานใหม่ ซึ่งอาจยาวนานถึง 2 ปี ตลาดทาวน์เฮาส์ หรือ ทาวน์โฮม นั้น ก็ยังคงจะเป็นตลาดที่ยังได้รับความสนใจสูง ทั้งในฝั่งผู้เล่นและผู้ซื้อ พบดีเวลลอปเปอร์ยังขยันแตกไลน์ เพิ่มพอร์ตโปรดักต์เข้ามาในตลาดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในรายที่ไม่เคยเล่น โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะเจ้าตลาดเดิม เช่น ลลิล, โกลเด้นแลนด์ กลายเป็นโอกาสสร้างยอดขายได้มากกว่าช่วงปกติ ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดทาวน์เฮาส์ เป็นฐานตลาดที่ใหญ่มาก มีความต้องการสูง “เป็นตลาดที่ดีเวลลอปเปอร์ ยังขยันเข้ามาแข่งขันเรื่อยๆ มีหลายราย ตามหาไล่ช้อปที่ดิน ขนาดไม่เกิน 30 ไร่ ในราคาไม่เกินตารางวาละ 3 หมื่น เพื่อนำมาพัฒนาโครงการทาวน์โฮม โดยเฉพาะโซนรอบนอก กทม. ฝั่งตะวันออก เช่น สายไหม มีนบุรี และโซนพุทธมณฑลสาย 4 เป็นต้น”
กลยุทธ์ตีป้อมกำลังซื้อ โดยมีผู้ซื้อเป็นคนกุมเกม กดดันให้ผู้พัฒนาฯ ทั้งเจ้าตลาดเดิม และรายใหม่ๆ แข่งขันภายใต้โจทย์ยากขึ้น ความต้องการ, ขนาด และราคาที่ต้องสอดคล้องกัน โดยบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดทาวน์โฮมสุดแกร่ง ผ่านแบรนด์พระเอก “โกลเด้นท์ ทาวน์” นั้น ยังโดดเด่นในแง่ยอดขาย โดย 6 เดือนแรก สร้างยอดขายในกลุ่มทาวน์โฮมได้รวม 4,700 ล้านบาท จากยอดขายรวม 8,819 ล้านบาท ขณะปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดโครงการใหม่ที่้เหลืออีก 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท ภายใต้โมเดล Classis Model ราคาเหมาะกับโปรดักต์, เจาะทำเลซัพพลายน้อย ดีมานด์สูง ผ่านบ้านดีไซน์สวยหรูมีเอกลักษณ์
ขณะบมจ.เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำในกลุ่มทาวน์โฮมระดับไฮเอนด์ ท็อปฟอร์ม ประกาศจะบุกเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง ประเดิมพรีเซลปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป รวมอีกทั้งสิ้น 13 โครงการ มูลค่ากว่า 1.53 หมื่นล้านบาท ทั้งภายใต้แบรนด์ บ้านกลางเมือง และแบรนด์ พลีโน่ เจาะตลาดบ้านหลังแรก ตั้งแต่ราคา 2-7 ล้านบาท ตามกลยุทธ์หลัก “ราคาที่จับต้องได้” และ “การพัฒนาพื้นที่ส่วนกลาง” ซึ่งหากดูยอดขาย 7 เดือนที่ผ่านมา เฉพาะในกลุ่มแนวราบ กว่า 18,175 ล้านบาทนั้น สัดส่วนนับ 50% หรือ ประมาณ 9 พันล้านบาท เกิดขึ้นในกลุ่มทาวน์โฮมจากโครงการที่อยู่ระหว่างการขายและโครงการใหม่ครึ่งปีแรก
ด้าน พฤกษา เรียลเอสเตท เจ้าใหญ่ครองตลาดล่าง “บ้านพฤกษา” ตอกย้ำความเป็นผู้นำ ผ่านยอดขายจากทาวน์เฮาส์สูงสุด สัดส่วน 53% จากยอดขายรวม ครึ่งปีแรก ที่ทำได้ 9,576 ล้านบาท พร้อมต้องจับตา หลังผู้บริหารใหญ่ นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมรัตน์ เตรียมปรับกลยุทธ์ “รีมาร์เก็ตติ้ง” โครงการใหม่ ผ่านการปรับรายละเอียด และรูปแบบให้ตรงกับลูกค้ามากขึ้น โดยมุ่งเป้าไปยังตลาดแนวราบ 7 โครงการ มูลค่า 8,780 ล้านบาท ซึ่งตามแผนเดิมนั้น เป็นกลุ่มทาวน์โฮม 3 โครงการ ในทำเลสุวรรณภูมิ, เทพารักษ์ และเพชรเกษม 69
และนับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เมื่อ บมจ.แสนสิริ เปิดหน้าชนศึก ส่งแบรนด์ “อาณาสิริ” มิกซ์โปรดักต์ ซึ่งต้องการเข้าตีตลาดทาวน์โฮม ในกลุ่ม 2-6 ล้านบาท ด้วยแผนอีก 4 โครงการใหม่ในทำเลกทม.-ปริมณฑล มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ภายใต้เป้าหมายสำคัญต้องการขึ้นตำแหน่ง Top 3 เสริมทัพแบรนด์ดัง “สิริเพลส” ทาวน์โฮมมีสไตล์ที่ได้รับการตอบรับสูงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดจะถูกผลักดันโดยกลยุทธ์ สังคมคุณภาพ คลับเฮ้าส์ขนาดใหญ่ และการแบ่งพื้นที่ในโครงการ เป็นต้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563