การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนอกจากช่วยกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค อำนวยความสะดวกในการสัญจรแล้ว ยังกระตุ้น การจ้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศในแต่ละปี อีกด้วย
นายสราวุธ ทรงศิวิไลอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันกรมมีงบการลงทุน 100,000 ล้านบาทต่อหัว เพื่อดำเนินโครงการมากกว่า 5,000 โครงการต่อปี ซึ่งเป็นการลงทุนด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่โครงการมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี และโครงการที่ทำต่อเนื่อง ใน งบประมาณผูกพันใหม่ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี โดยปีแรกสำนักงบประมาณจะให้งบประมาณ 20%
ทั้งนี้ ข้อดีของกรมทางหลวง คือเป็นหน่วยงานสร้างถนนของทางราชการ ซึ่งทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท มีเส้นทางสายหลัก รวม 100,000-120,000 กิโลเมตร จากเส้นทางทั่วประเทศประมาณ 400,000 กิโลเมตร แต่ปริมาณการเดินทางใน 120,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่มากกว่าการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นถึง 10 เท่า ฉะนั้น ข้อดีของทั้ง 2 หน่วยงานคือ จากการทำงานที่ผ่านมาสามารถแล้วเสร็จและเห็นเป็นรูปธรรม มีการกระจายงานไปในส่วนต่างๆ ทั้งส่วนของการทำเอง แต่มีค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุใดจึงสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่งานส่วนใหญกว่า 90% เป็นส่วนการจ้างเหมา ซึ่งก็มีการประกวดราคาตามระเบียบ มีความโปร่งใส ซึ่งกระทรวงคมนาคมเน้นยํ้าเป็นพิเศษ ต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
สำหรับส่วนการจ้างเหมา ไม่ได้อยู่แค่บริษัทที่เข้ามาจ้างเหมา แต่ห่วงโซ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์จากผู้ประกอบการด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ทำให้เกิดการหมุน เวียนของเงินในระบบหลายรอบ แค่ช่วงแรกของการทำงานจะหมุนไปไม่ตํ่ากว่า 3-4 รอบ หรือคิดเป็น 3 เท่า ของมูลค่าการลงทุนที่ลงทุนไปทั้งหมด
“นอกจากนี้งานของทล.และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะเห็นเป็นรูปธรรมจากการใช้งานของประชาชน และการซ่อมบำรุง ต้องแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด และผลงานที่เกิดขึ้นเกิดจากความร่วมมือกับเอกชนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราเป็นเจ้าของงาน การควบคุมงานก็เป็นของทล.และทช. แม้จะมีข่าวบ้างว่า ทำถนนแล้วเสียเร็ว แต่ขอยืนยันว่าเป็นส่วนน้อยมาก เนื่องจากภาวะการจำกัดในการทำงานที่ฝนอาจจะตก หรือเกิดความผิดพลาดได้บ้าง แต่เป็นส่วนน้อยมาก นับเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถึง1% และขอยืนยันว่ากับผู้ที่มีส่วนร่วมกับทุกคนจะดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชน”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด และมีภาระในการใช้งาน โครงการขนาดใหญ่ของกรมทางหลวงที่จะดำเนินการในอนาคต มูลค่า 20,000 ล้านบาทขึ้นไป ถึง 100,000 ล้านบาท จะเป็นรูปแบบการร่วมการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(พีพีพี)
แหล่งข่าวจากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างโครงข่ายถนน ทั้งก่อสร้างใหม่ และส่วนใหญ่เป็นลักษณะขยายเขตทาง ช่วยให้กระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบฐานราก ซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563