เคาะ “เวนคืนที่ดิน” 247 ไร่ 3ตำบล เมืองพิษณุโลก 

13 ต.ค. 2563 | 21:00 น.

ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ "เวนคืนที่ดิน" จำนวน 247 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล "สมอแข-อรัญญิก-หัวรอ" อำเภอเมืองพิษณุโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 12 ตุลาคม 2563 มีมติอนุมัติหลักการ "เวนคืนที่ดิน" หรือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ 

 

และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. เคาะ “เวนคืนที่ดิน” โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดไหนบ้าง เช็กได้ที่นี่

ครม.เคาะ “เวนคืนที่ดิน” โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จุดไหนบ้าง เช็กได้ที่นี่

เช็กที่นี่ มติครม. เคาะ “เวนคืนที่ดิน" ขยายทางหลวงท้องถิ่น เขตพระนคร

มติครม. "เวนคืนที่ดินนนทบุรี" 160 ไร่ สร้างทางหลวงชนบท 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 

 

เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 กับถนนธรรมบูชา เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค

กระทรวงคมนาคม เสนอต่อครม.ว่า

1. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 กับถนนธรรมบูชาเนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานราชการเกือบทุกกระทรวง และมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง

 

ปัจจุบันในเขตตัวเมืองพิษณุโลกมีการจราจรหนาแน่น ดังนั้น เพื่อช่วยลดปริมาณการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 โดยไม่ต้องผ่านตัวเมือง แก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมือง และเป็นการรองรับความเจริญเติบโตของตัวเมืองพิษณุโลกในอนาคต รวมทั้งเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในเขตตัวเมืองและนอกเมืองให้มีความสมบูรณ์

 

2. กรมทางหลวงชนบทได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 692.96 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 21.37% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.96 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ และหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกี่ยวกับการรองรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต โครงการก็จะมีความเหมาะสมมากขึ้นอีก

 

3. การคาดการณ์ปริมาณการจราจรในอนาคต กรณีที่ไม่มีโครงการฯ กับกรณีที่มีโครงการฯบนถนนโครงข่ายคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 126 ผลการคาดการณ์พบว่า

เคาะ “เวนคืนที่ดิน” 247 ไร่ 3ตำบล เมืองพิษณุโลก 

4. ลักษณะของโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 กับถนนธรรมบูชา (ถนนสาย ฉ2 ตามโครงการผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก) เริ่มต้นจากแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (บริเวณ กม.ที่ 30+80) สิ้นสุดโครงการที่ถนนธรรมบูชา (ถนนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นถนน ขนาด 4 ช่องจราจรชนิดผิวจราจรลาดยางแอลฟัลท์ เกาะกลางกว้าง 4.20 เมตร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 3.50 เมตร ทางเท้า (เฉพาะในเขตชุมขน) กว้างข้างละ 2.40 เมตร เขตทางกว้างประมาณ 30.00 เมตร

 

มีระยะทางประมาณ 9.627 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 247 ไร่ 329 แปลง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 68 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 1,103.5750 ล้านบาท  (ค่าสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 8.0000 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 96.5750 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 999.0000 ล้านบาท)

 

5. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมต่อโครงการ มีผู้เห็นด้วยกับโครงการประมาณร้อยละ 73.60

 

6. สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วเห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี และ สงป. จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบทตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว

 

จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ