มีคำถามว่าหากรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว มีอันต้องหยุดการให้บริการเดินรถ จะได้รับผลกระทบต่อชาวกรุง สร้างความเสียหายต่อธุรกิจเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC บริษัทลูกของกลุ่มบริษัทบีทีเอสโอลดิ้งส์ มีหนังสือทวงถาม บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทลูกของ กรุงเทพมหานครถึงค่าจ้างคงค้าง กว่า8,000ล้านบาทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2561 รับจ้างเดินรถสายสีเขียวใต้ กระทั่งเชื่อมโยงยังส่วนต่อขยายเส้นทางอื่นๆ เชื่อเหลือเกินว่า หากกทม.และรัฐบาลยังหาทางออกไม่ได้ การประกาศหยุดเดินรถทั้งกทม.และBTSอาจไม่ใช่เพียงคำขู่อีกต่อไป
ทั้งนี้แหล่งข่าวจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC ยืนยันว่า “หาก เดินรถโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ก็ไม่ควรรับเดินรถอีกต่อไป"
ที่ผ่านมา" BTSC"ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว บริเวณส่วนกลางซึ่งเป็นเส้นทางหลัก ได้แก่ สายสุขุมวิท ตั้งแต่หมอชิต-อ่อนนุช สายสีลม ตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินระยะเวลา 30ปี ถึงวันที่4ธันวาคม 2572
ขณะรถไฟฟ้า สายสีเขียว เส้นทางส่วนต่อขยายที่มีปัญหา อาจถึงขั้นหยุดให้บรการเดินรถทั้งกทม.และ BTSC คือ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทปราการ) สายสีเขียวเหนือ(หมอชิต-คูคต) อีกทั้งส่วนต่อขยาย สายสีลม (วงเวียนใหญ่-บางหว้า) และสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง)
ที่ผ่านมา กทม. ได้อนุมัติสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะบริษัทลูก รูปแบบ PPP-Netcost เป็นระยะเวลา 30 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 เพื่อให้ดำเนินงานในส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง ตลอดจนส่วนต่อขยายในอนาคตที่กทม.เป็นผู้ก่อสร้าง คือ ส่วนต่อขยายสายสีลมระยะที่ 2 ช่วงวงเวียนใหญ่ - บางหว้า และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 3 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้าง รวมถึงส่วนสัมปทานเดิมของ BTSC ที่จะหมดสัญญาลงใน ปี 2572 รวมระยะทางทั้งสิ้น 89 กิโลเมตร แต่เพื่อลดความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง และการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า กรุงเทพธนาคมจึงลงสัญญาว่าจ้างให้ BTSCเป็นผู้บริหารและดูแลซ่อมแซมโครงการ (Operation & Maintenance) เพื่อให้ BTSC นำขบวนรถชุดเดิมที่มีอยู่เข้ามาให้บริการในส่วนต่อขยายทั้งหมดโดยผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนขบวนรถ
นอกจากนี้ กทม.ยังว่าจ้าง BTSC เดินรถรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสะพานกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสานระยะทาง1.8กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการ วันที่16 ธันวาคมนี้ ซึ่งน่าจับตา ว่า หากกทม.ตลอดจนรัฐบาล ไม่มีเงินค่าจ้าง ไม่ ต่ออายุสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบเพื่อแลกกับภาระหนี้แล้ว มองว่า เป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่ บริษัทกรุงเทพธนาคม และกทม.จะเอาอยู่