อยู่ไม่ไหว! 1 ใน 5 ของบริษัทอเมริกันในจีน คิดย้ายฐานการผลิต

22 พ.ค. 2562 | 10:03 น.

ประมาณ 1 ใน 5 ของบริษัทอเมริกันที่ปัจจุบันดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศจีน ยอมรับว่ากำลังพิจารณาที่จะโยกย้ายฐานการผลิต “บางส่วน” หรือ “ทั้งหมด” ออกจากประเทศจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเผชิญหน้าทางการค้า  นอกจากนี้ราว 1 ใน 3 ของบริษัทอเมริกันทั้งหมดในจีน ยังกำลัง “ชะลอ” หรือ “ยกเลิก” การตัดสินใจลงทุนใหม่ๆในจีน  โดยบริษัทที่กำลังพิจารณาโยกย้ายฐานการผลิตยอมรับว่า จุดหมายปลายทางใหม่ที่พวกเขาสนใจไม่ใช่การย้ายกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการไปลงทุนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ก็เม็กซิโก

 

รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทอเมริกัน 239 บริษัทในประเทศจีนครั้งนี้ จัดทำโดยหอการค้าอเมริกันในจีน และหอการค้าอเมริกันสาขาเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 16-20 พฤษภาคม 2562 นอกจากการโยกย้ายฐานการผลิตและการชะลอหรือยกเลิกการลงทุนใหม่แล้ว บริษัทอเมริกันที่ตอบคำถามการสำรวจเกือบ40% ยังตอบว่า ภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯประกาศจัดเก็บในอัตราสูงขึ้น และมีผลตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา “จะส่งผลกระทบในเชิงลบ” ต่อธุรกิจของบริษัท ขณะเดียวกัน 1 ใน 3 ของบริษัทที่ร่วมตอบคำถามการสำรวจยังระบุว่า การที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจของพวกเขาเช่นกัน 

อยู่ไม่ไหว! 1 ใน 5 ของบริษัทอเมริกันในจีน คิดย้ายฐานการผลิต

การสำรวจครั้งนี้ยังให้ภาพของแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนจะแยกส่วนออกจากกันมากขึ้น โดย 35% ของบริษัทอเมริกันที่เข้าร่วมการสำรวจ ระบุว่า กลยุทธ์หลักๆที่บริษัทจะใช้รับมือกับการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯคือ การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นการผลิตในประเทศจีนเพื่อตอบโจทย์ตลาดจีนเป็นหลัก

 

เท่าที่ผ่านมา ผลกระทบที่ได้รับจากสงครามการค้าครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นด้านการเงิน โดยหลายบริษัทระบุว่า ความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าลดน้อยลง ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่รายได้และผลกำไรของบริษัทลดลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า บริษัทอเมริกันในจีนยังอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคการค้าที่มาในรูปแบบอื่นๆ ไม่ใช่ในรูปภาษีแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ประมาณ 53% ของบริษัทอเมริกันระบุว่า ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา (เริ่มจาก 1 ก.ค. 2561) พวกเขายังไม่พบเจออุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากรัฐบาลจีน     

อยู่ไม่ไหว! 1 ใน 5 ของบริษัทอเมริกันในจีน คิดย้ายฐานการผลิต  

รายงานชี้ว่า บริษัทอเมริกันเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบและบางส่วนก็มีแผนจะโยกย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน ขณะที่บริษัทจากสหภาพยุโรป (อียู) มีแผนโยกย้ายการผลิตออกนอกประเทศจีนเป็นจำนวนน้อยกว่า และเมื่อกล่าวถึงปัญหาการถูกบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีให้บริษัทจีนที่เป็นหุ้นส่วนเพื่อแลกกับช่องทางในการเข้าถึงตลาดจีน ปรากฏว่า มีบริษัทอียู 20% ที่ตอบว่า มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้  เทียบกับปีก่อนหน้ามีเพียง 10%