คอลัมน์ชี้ช่องจากทีมทูต
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน
จากการแพร่ระบาดของ โรคอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever - ASF) เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ในมณฑลทางตอนเหนือของจีน และแพร่ระบาดรุนแรงไปกว่า 30 มณฑลทั่วประเทศ ผู้ประกอบการจีนต้อง กําจัดสุกรมากกว่า 100 ล้านตัว ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตเนื้อสุกรของจีนลดลงกว่า 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 นำมาซึ่งการขึ้นราคาและมีความต้องการบริโภคสุกรและเนื้อสัตว์ทางเลือกในระดับสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทําสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40.87 หยวนต่อกิโลกรัม
จีนเป็นประเทศผู้บริโภคเนื้อสุกรหลักของโลก โดยในปี 2561 จีนบริโภคเนื้อสุกรมากถึง 56.12 ล้านตันหรือ 50.54% ของปริมาณการบริโภคสุกรทั้งโลก การขาดแคลนเนื้อสุกรจึงส่งผลกระทบหนักต่อจีนและทําให้ประชาชนชาวจีนหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทน และทําให้ระดับราคาเนื้อไก่ในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของจีนระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2562 ราคาจําหน่ายเนื้อไก่ขาวเฉลี่ยอยู่ที่ 15.85 หยวน/กิโลกรัม และปรับขึ้นสูงมากเป็น 18.38 หยวน/กิโลกรัม ในเดือนตุลาคม 2562 นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลราคาจําหน่ายเนื้อไก่ในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนําในประเทศ พบว่ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.76% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยมีเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) อุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนเนื้อสุกรและมีราคาแพง ทําให้ชาวจีนหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทน และ (2) ความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มปีกไก่เพิ่มสูงขึ้นจนปริมาณการผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเพียงพอ
จีนแก้ปัญหาโดยการนำเข้าไก่จากต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 จีนนําเข้าไก่แช่แข็งกว่า 627,940 ตัน มูลค่า 10,494 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 72.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมศุลกากรของจีนยังระบุว่าเฉพาะในเดือนตุลาคม 2562 จีนนำเข้าไก่แช่แข็งจากต่างประเทศมากถึง 66,921 ตัน มูลค่ารวม 1,264 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 64% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา
ในส่วนของประเทศไทย ภายหลังได้รับสิทธิ์ในการส่งออกเนื้อไก่มายังจีนอีกครั้ง ไทยได้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งมาจีน รวม 55,031 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 5.18 เท่า เมื่อเทียบจากปริมาณในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 164.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.9 เท่าจากมูลค่าปี 2561 นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกสัตว์ปีกแช่แข็ง และผลพลอยได้ของไก่ที่ตัดแต่งเป็นชิ้นส่วน (HS: 020714) มายังจีนคิดเป็นอันดับ 3 อีกด้วย ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกไปจีนมากถึง 55,302 ตัน พุ่งสูงขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ถึง 3.66 เท่า แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่วิสาหกิจไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปไก่ที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนจาก Certification and Accreditation Administration of the People’s Republic of China (CNCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติวิสาหกิจต่างประเทศที่นำเข้า-ส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ต้องขออนุญาต
แม้ทำเลที่ตั้งของไทยที่อยู่ใกล้จีนมากกว่าผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่อย่างบราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา แต่ไทยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเนื้อไก่แปรรูปของจีนได้ เนื่องจากปัจจุบัน โรงงานของไทยได้รับการประกาศรับรองบนเว็บไซต์ทางการของ CNCA เพียง 7 โรงงาน และยังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้รับ การรับรองเพิ่มอีก 9 โรงงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อสุกรของจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งมายังจีน มีขั้นตอนการดำเนินการโดยสังเขป ดังนี้
1.โรงงานผู้ผลิตจะต้องขอรับการรับรองโรงงานเพื่อการส่งออกจากกรมปศุสัตว์เสียก่อน หลังจากได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว สามารถแจ้งความประสงค์ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากไก่ไปยังจีนได้ โดยกรอกใบสมัคร (APPLICATION FOR EXPORT OF MEAT TO P.R.CHINA) เป็นภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ครบถ้วน จากนั้นส่งไปยังกลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) โดย สพส. จะเป็นผู้รวบรวมใบสมัครและตรวจสอบความถูกต้องและส่งไปยังสำนักงานที่ปรึกษาการ เกษตรในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทาง จีน เมื่อฝ่ายจีนตรวจสอบ ความถูกต้องของเอกสารแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการตรวจสอบโรงงานสถานที่ผลิตในไทย
2. กรณีโรงงานผ่านการรับรอง ฝ่ายจีนจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการบนเว็บไซต์ CNCA โดยระบุชนิดสินค้าที่สามารถทำการส่งออกไปจีนได้ แต่ในกรณีโรงงานไม่ผ่านการรับรอง ผู้ประกอบการยังไม่สามารถทำการส่งออกไปจีนได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มเติมตามข้อกำหนดที่ฝ่ายจีนระบุไว้ และสามารถยื่นเอกสารการแก้ไขมาที่ สพส. ได้ทันทีที่การปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเสร็จสิ้น ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตที่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของจีนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำการส่งออกสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตนั้นไปยังจีนได้
3. ผู้ประกอบการไทยควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสมํ่าเสมอ โดยสามารถสืบค้นข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทางเว็บไซต์ www.chinesestandard.net และ www.cnspbzw.com รวมถึงศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่จำกัดโควตา หรือสินค้าที่ต้องใช้ใบอนุญาตก่อนนำเข้าได้ที่กรมโควตาและใบอนุญาต กระทรวงพาณิชย์จีน ได้ที่ www.licence.org.cn
นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ทางศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้แนะนำฐานข้อมูลที่จัดทำโดยรัฐบาลจีนในการตรวจสอบสถานะและความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้าเบื้องต้น เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และลดโอกาสการถูกฉ้อโกงทางธุรกิจ ได้แก่ เว็บไซต์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบริษัทจีนที่นำเข้า-ส่งออกสินค้า ของกรมศุลกากรจีน ที่ www.credit. customs.gov.cn และเว็บไซต์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบริษัทจีน และสถานะการดำเนินธุรกิจเบื้องต้นของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.gsxt.gov.cn
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5-8 มกราคม 2563