การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกเวลานี้กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกๆ ด้าน ธุรกิจหลากสาขาได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดโดยตรงและทางอ้อมจากหลากหลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้าน ลดการใช้จ่าย งดการเดินทางท่องเที่ยว และธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติไม่ว่าจะในภาคบริการหรือภาคการผลิต
องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) แถลงการณ์ระบุว่า การค้า ระหว่างประเทศน่าจะหดตัวลงอย่างรุนแรงในอัตราระหว่าง 13%-32% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมมติฐานความเป็นไปได้ของสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นมีหลากหลายมาก ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนของวิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ หนึ่ง ในสมมติฐานความเป็นไปได้คือการปรับลดลงของการค้าโลกในปีนี้ น่าจะมากกว่าการลดลงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโลกเผชิญวิกฤติการเงิน “วิกฤติแฮมเบอร์ เกอร์” หรือที่เรียกอย่างกว้างขวางว่า “วิกฤติซับไพรม์” เมื่อปี 2551 หรือกว่า 10 ปีที่แล้ว
ขั้นเลวร้ายสุดเทียบเท่า The Great Depression
สมมติฐานขั้นเลวร้ายกว่านั้น คือคาดว่าการค้าโลกอาจลดลงเท่าๆ กับที่เคยลดลงในช่วงที่โลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression เมื่อ 90 ปีที่แล้ว (ราว ค.ศ. 1930) แต่ครั้งนี้จะไม่ยืดเยื้อยาวนานเท่าในอดีต
นายโรแบร์โต อาเซเวโด เลขาธิการใหญ่ขององค์การการค้า โลก เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ตัวเลขการค้าโลกดูยํ่าแย่มากจริงๆ ต้องยอมรับว่านี่คือวิกฤติทางด้านสาธารณสุขระดับโลกครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลนานาประเทศจะต้องเร่งนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้เพื่อปกป้องและรักษาชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตจะต้องลดลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบที่เจ็บปวดมายังภาคธุรกิจและครัวเรือนของประชาชนทั่วไป นับเป็นความยากลำบากเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากผลของโรคระบาดดังกล่าวที่มีต่อสุขภาพของประชากรโลกโดยตรง
ในกรณีสมมติฐานสถานการณ์ ที่ไม่รุนแรงนัก การค้าสินค้าของโลกอาจจะลดลงที่อัตราเพียง 13% นั่นหมายความว่า หลังจากที่การค้าหล่นวูบลงมาในช่วงที่วิกฤติการแพร่ระบาดอยู่ในขั้นรุนแรงที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการฟื้นคืนตัวอย่างรวดเร็วเช่นกันในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าสถานการณ์จริงจะเป็นเช่นนั้น
ในระยะหลังๆ มานี้ มีแนวโน้มมากขึ้นที่ว่า หลังจากการหดตัวอย่างรุนแรงแล้ว ภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจจะคงอยู่เป็นเวลานาน และการฟื้นตัวอย่างแท้จริงก็ไม่อาจคาดหวังได้
เตรียมพร้อมเผชิญความไม่แน่นอน
รายงานของดับบลิวทีโอระบุในเชิงส่งสัญญาณเตือนว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์นั้นมีอยู่สูงมาก ซึ่งจะมีผลต่อสมมติฐานความเป็นไปได้ของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปี 2563 และ 2564 และด้วยความไม่แน่นอนนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะดีกว่าหรือยํ่าแย่กว่า สิ่งที่ประมาณการกันไว้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าโลกมีการขยายตัวในอัตราชะลอลงจนแทบไม่ขยับมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 การค้าสินค้าในภาพรวมขยายตัวในอัตราตํ่ากว่าปีก่อนหน้าถึง 1% ซึ่งเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าทางการค้าที่ยืดเยื้อมาตลอดทั้งปี และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น คำแนะนำจากดับบลิวทีโอในช่วงเวลานี้ก็คือ โดยปกติแล้ว การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจะอาศัยการค้าขายระหว่างประเทศเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนที่สำคัญ ฉะนั้น หากประชาคม โลกจะช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวผ่านพ้นวิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ก็จำเป็นจะต้องสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนการค้านั่นคือ บรรยากาศของตลาดที่เปิดเสรี ไม่มีการตั้งกำแพงกีดกัน และนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนเพื่อที่ผู้ประกอบการจะสามารถคาดการณ์และวางแผนได้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 23 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563