สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (20 เม.ย.) ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของจีนในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้มีการเริ่มทดลองทางคลินิกของวัคซีนสองชนิดเชื้อตาย 2 ตัวแล้ว
จางอวิ๋นเทา รองประธานบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNBG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกลุ่มเภสัชกรรมแห่งชาติจีน หรือ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และเป็นบริษัทที่พัฒนาวัคซีน 1 ใน 2 ตัวข้างต้นกล่าวว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพร่างกายของผู้รับวัคซีนอย่างใกล้ชิด ผ่านการวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา การตรวจจับไซโตไคน์ และการตรวจสอบแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing antibody)
การทดลองทางคลินิกซึ่งเริ่มในวันที่ 12 เม.ย. จะดำเนินการกับอาสาสมัคร 288 คนในระยะแรก และกับอาสาสมัคร 1,108 คนในระยะที่สอง ซึ่งอาสาสมัครทั้งหมดล้วนมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุมากกว่า 6 ปี
อาสาสมัครดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่ได้รับวัคซีนในปริมาณต่ำ, กลาง, สูง และ ผู้ได้รับยาหลอก
วัคซีนชนิดเชื้อตายที่ใช้ไวรัสที่ตายแล้วในการปลูกถ่ายหน่วยความจำของเซลล์ภูมิคุ้มกัน คาดว่าจะทำให้เมื่อผู้ได้รับวัคซีนถูกโจมตีด้วยไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวมีข้อได้เปรียบ ได้แก่ กระบวนการผลิตวัคซีนที่ผ่านการพัฒนามาแล้ว มาตรฐานด้านคุณภาพที่ควบคุมได้ และช่วงการป้องกันที่หลากหลาย
หยางเสี่ยวหมิง ประธานบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีนให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนว่า การพัฒนาวัคซีนดังกล่าวมีกระบวนการที่ยุ่งยากหลายอย่าง
หลังจากแยกสายพันธุ์ไวรัสของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บรรดานักวิจัยต้องทดสอบว่าสายพันธุ์นั้นเหมาะสมแก่การผลิตวัคซีนหรือไม่ เนื่องจากอาจมีความเป็นพิษและมีความสามารถในการสืบพันธุ์ที่แตกต่างกัน
คณะนักวิจัยได้ทำการตรวจสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ของไวรัสที่เหมาะสมแก่การผลิตวัคซีนต้นแบบมาเก็บไว้ในธนาคารไวรัส จากนั้นพวกเขาจึงเพาะเลี้ยงพวกมันในเซลล์วีโร (Vero) เพื่อรักษาไวรัสสายพันธุ์ที่เลือกไว้ให้ยังมีชีวิตอยู่และมีเสถียรภาพ
“กระบวนการเหล่านี้ต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพที่มีความปลอดภัยสูง” หยางกล่าว
ขณะเดียวกัน นักวิจัยยังได้แสวงหาวิธีการทำให้เชื้อไวรัสหมดฤทธิ์ และการทำให้บริสุทธิ์ปลอดจากสารอื่น สูตรต่างๆ และปริมาณวัคซีน อันเป็นกุญแจสำคัญสู่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย
ทีมวิจัยใช้ลิง 2 ชนิด, หนู 3 ชนิด, กระต่าย และหนูตะเภา เพื่อทดสอบการโจมตีของไวรัสก่อนการทดลองทางคลินิก
จากประสบการณ์ในการพัฒนาวัคซีนโรคซาร์สก่อนหน้านี้ ซิโนวัค (Sinovac) บริษัทผู้พัฒนาวัคซีน 1 ใน 2 ตัวข้างต้น ได้ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน และสถาบันห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สัตว์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน
นับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการวัคซีนเมื่อวันที่ 28 ม.ค. บริษัทได้ส่งนักวิจัยไปยังห้องปฏิบัติการพี 3 (P3) ซึ่งเป็นห้องที่สามารถกักเก็บเชื้อไวรัสได้ในมณฑลเจ้อเจียงและกรุงปักกิ่ง เพื่อดำเนินการคัดกรองอย่างเข้มข้นและพัฒนาวิธีเตรียมวัคซีน บรรดานักวิจัยต่างทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเร่งศึกษาวัคซีนให้เสร็จสิ้นก่อนการทดลองทางคลินิก อิ่นเว่ยตง ซีอีโอของซิโนวัคกล่าวในงานแถลงข่าว
หวังจวิ้นจือ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าวัคซีนที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกนั้นมีความก้าวหน้าที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายวัคซีนเหล่านี้ออกสู่ตลาดยังต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากการทดลองทางคลินิกในระยะที่สามอาจต้องทดลองในคนจำนวนหลายพันคนเสียก่อนเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพให้มั่นใจ
“แม้ในยามวิกฤติเช่นนี้ จีนก็ไม่อาจลดเกณฑ์การประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนระหว่างกระบวนการทดลองได้” หวังกล่าว