ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “โควิด-19” ที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินจะยังคงลากยาวไปอีกหลายปีนับจากนี้ และกว่าจำนวนผู้เดินทางทางอากาศ หรือ passenger traffic จะกลับเพิ่มขึ้นมาคืนสู่ระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็คงต้องรอไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย
นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์ ผู้อำนวยการสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (IATA) ที่มีสมาชิกเป็นสายการบินทั่วโลกเปิดเผยวานนี้ (14 พ.ค.) ว่า นับตั้งแต่ที่โควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อต้นปีมา ปริมาณการเดินทางทางอากาศลดลงมากกว่า 90% ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวคาดว่าจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดหากมีการขยายเวลาข้อจำกัดด้านการเดินทางและมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคออกไปอีก
อ่านเพิ่มเติม เอเชียอ่วมสุด รายได้แอร์ไลน์จ่อทรุด 1.8 ล้านล้าน
“เรากำลังขอร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆช่วยให้อุตสาหกรรมการบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อีกครั้งด้วยมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน” ผู้อำนวยการของไออาต้ายังตั้งความหวังว่า สายการบินจะเริ่มบินบางเส้นทางได้ก่อนในช่วงฤดูร้อนนี้ “เรามีเป้าหมายขึ้นบินอีกครั้งและเน้นเพิ่มการเดินทางภายในประเทศก่อนในช่วงไตรมาสที่2 จากนั้นก็เปิดเที่ยวบินข้ามประเทศและภายในภูมิภาค เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ หรือเอเชีย-แปซิฟิก ในไตรมาสที่3 ก่อนที่จะเปิดเที่ยวบินข้ามทวีปในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
นายจูนิแอคซ์คาดการณ์ว่า เที่ยวบินภายในยุโรปน่าจะเริ่มได้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนนี้ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศว่ายังคงปิดพรมแดน ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช้พลเมืองอียูเดินทางเข้ามาจนถึงกลางเดือนมิถุนายนนี้ และจะเริ่มเปิดอนุญาตเป็นขั้นเป็นตอนโดยอาจจะเริ่มจากประเทศที่มีสถิติการติดเชื้อโควิดต่ำก่อน
หลายสายการบินได้เริ่มแผนเปิดการบินใหม่อีกครั้งแล้ว เช่นกรณีของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่มีแผนเปิดเที่ยวบินไปยุโรปและจีนอีกครั้งในเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนสายการบินเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ จะเริ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ 9 เส้นทางเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.นี้ และสายการบินไรอันแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์ของยุโรป คาดหมายว่าจะกลับมาบินใหม่ได้ 40% ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ส่วนสายการบินลุฟต์ฮันซ่ามีแผนจะขยายเพิ่มบริการในเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่สายการบินไอเอจี ( International Airlines Group) ของอังกฤษและสเปน (เกิดจากการผนวกกิจการของสายการบินไอบีเรียและบริติช แอร์เวย์) จะเริ่มบินอีกครั้งบางเที่ยวบินในเดือนก.ค.นี้
นายเดอ จูนิแอคซ์ กล่าวว่ายังมีอุปสรรคหลายประการต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน เช่นถ้าหากรัฐบาลบางประเทศยังคงใช้มาตรการบังคับให้ผู้เดินทางต้องกักกันตัวเอง (quarantine) 14 วันเมื่อเดินทางถึงสนามบิน นั่นก็จะทำให้การกระตุ้นให้มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้นเป็นไปได้ยาก โดยตัวเขาเองมองว่ามาตรการกักตัวนั้นไม่ได้ผลเท่าการควบคุมด้านสุขภาพอนามัยตั้งแต่ต้น เช่นการฆ่าเชื้อทำความสะอาดห้องโดยสารของเครื่องบิน การตรวจวัดอุณหภูมิและขอให้ผู้โดยสารใส่หน้ากาก รวมถึงการเพิ่มมาตรการความสะอาดเกี่ยวกับอาหาร ตลอดจนการกำหนดจำนวนสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อให้พนักงานสามารถตรวจตราได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยังคงมีมาตรการเช่นนี้ (กักตัว 14 วันเมื่อเดินทางถึงสนามบิน) ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน สเปน และอังกฤษ ซึ่งความเข้มงวดของมาตรการอาจจะแตกต่างกันออกไป เช่น ออสเตรเลีย เมื่อนักเดินทางต่างชาติมาถึงก็จะมีเจ้าหน้าที่นำไปที่โรงแรมที่พักสำหรับกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่บางประเทศก็อนุโลมให้ไปกักตัวโดยสมัครใจ (self-quarantine) ที่บ้านหรือที่พัก ส่วนฮ่องกงมีกำไลข้อมือสำหรับนักเดินทางต่างชาติทุกคนที่เดินทางมายังฮ่องกง ต้องใส่ติดข้อมือเพื่อที่ทางการฮ่องกงจะสามารถติดตามตรวจสอบว่าพวกเขาไม่เดินทางออกนอกพื้นที่สำหรับกักกันตัว ผู้บริหารของไออาต้ากล่าวว่า มาตรการเหล่านี้จะทำให้ผู้คนยังไม่อยากเดินทางไปไหน
ข้อมูลอ้างอิง Air travel won’t return to pre-crisis levels until 2023, IATA chief warns