เมืองใหญ่หลายแห่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมทั้ง ลอสแองเจลิส ชิคาโก และแอตแลนตา ได้ประกาศ เคอร์ฟิว ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นาย จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ได้ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นเหตุจลาจล มีทั้งการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เผารถยนต์ ทุบกระจกและปล้นร้านค้า ตลอดจนการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลายพื้นที่อย่างน้อย 8 รัฐ อาทิ เท็กซัส โคโลราโด และจอร์เจีย ได้ร้องขอกำลังเสริมจากกองกำลังรักษามาตุภูมิ หรือเนชั่นแนล การ์ด (National Guard) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร ให้เข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ ขณะที่ทำเนียบขาวเข้าสู่มาตรการ “ล็อกดาวน์” ห้ามการเข้า-ออกโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราว หลังถูกกลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมล้อมรอบมาตั้งแต่คืนวันศุกร์ (29 พ.ค.)
รายงานข่าวระบุว่า ผู้ประท้วงยังคงเดินขบวนและก่อเหตุจลาจลปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างดุเดือดในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการเพิกเฉยต่อคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ที่ประกาศว่าจะยุติการประท้วงที่รุนแรงนี้แบบม้วนเดียวจบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดต่อผู้นำสหรัฐ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้
เมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินเนโซตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการประท้วง ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบมาเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน โดยตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและปาระเบิดมือเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงผู้โกรธแค้นจากกรณีที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีวัย 46 ปีเสียชีวิตในระหว่างการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากมีผู้แจ้งว่าเขาพยายามใช้ธนบัตรปลอมในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองมินมิอาโปลิส เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.)
ขณะที่ในลอสแอนเจลิส ชิคาโก แอตแลนตา และอีกมากกว่า 20 เมือง ทางการท้องถิ่นได้สั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล โดยในหลายรัฐเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษามาตุภูมิ หรือ “เนชั่นแนล การ์ด” (National Guard) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร เข้ามาช่วยควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบที่นับว่ารุนแรงมากที่สุดในสหรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ในซีแอตเทิลและนิวยอร์ก ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมกันตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้ลงโทษผู้ก่อเหตุให้หนักขึ้น และจับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ แม้มีรายงานว่านาย เดเร็ก ชอวิน อดีตนายตำรวจผิวขาวที่ก่อเหตุ ได้ถูกจับกุมตัวในข้อหาฆาตกรรมนายฟลอยด์และกำลังจะถูกนำตัวขึ้นศาลในวันจันทร์นี้ (1 มิ.ย.) แล้วก็ตาม
ส่วนในลอสแอนเจลิส เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงกระสุนยางและใช้กระบองปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่จุดไฟเผารถตำรวจ ขณะที่ในชิคาโกและนิวยอร์กนั้น ตำรวจตอบโต้ด้วยการพ่นสเปรย์พริกไทย
ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังกล่าวหากลุ่มแนวคิดซ้ายสุดโต่ง แอนติฟา (Antifa) ว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ พร้อมกระตุ้นให้รัฐที่มีพรรคเดโมแครตเป็นผู้บริหารรัฐบาลส่วนท้องถิ่นให้ดูตัวอย่างการปราบปรามผู้ประท้วงในนครมินนีแอโปลิสเมื่อคืนที่ผ่านมา
อ่านเพิ่มเติม
ประท้วง "สหรัฐ" ม็อบเดือดลามทั่ว ทวง “ความเป็นธรรม” แด่คนผิวสี
ทรัมป์ทวีตยันมีกลุ่มฉวยโอกาสก่อเหตุรุนแรง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตเมื่อวันอาทิตย์ (31 พ.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐจะประกาศให้กลุ่ม "แอนติฟา" เป็นองค์กรก่อการร้าย เขาเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงและการจลาจลที่เกิดขึ้นนี้
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยระบุในทวิตเตอร์ว่า ผู้ที่มาประท้วงมีจำนวนมากเป็นพวก “อันธพาล” และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ เลยกับนายจอร์จ ฟลอยด์ พวกเขามาประท้วงเพื่อสร้างความเดือดร้อนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์สร้างความกังวลว่า รัฐบาลกำลังพยายามควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งขัดกับบทบัญญัติที่ 1 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
กลุ่มแอนติฟา (Antifa) ซึ่งหมายถึงกลุ่มต่อต้านระบอบปกครองฟาสซิสต์ เป็นการรวมตัวของผู้ประท้วงรัฐบาล นักรณรงค์ฝ่ายซ้าย และผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย ซึ่งล้วนต่อต้านแนวคิดขวาจัดด้วยความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์มักกล่าวโจมตีกลุ่มนี้ว่าอยู่เบื้องหลังการประท้วงต่าง ๆ
เมื่อวันอาทิตย์ นายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐ ยังมีแถลงการณ์ว่า กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานสืบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ กำลังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่เข้าแทรกแซงการประท้วงและปลุกปั่นจากความสงบไปสู่ความรุนแรง โดยเชื่อว่ากลุ่มแอนติฟาและกลุ่มอื่น ๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบและเข้าข่าย "ผู้ก่อการร้ายในประเทศ"
ด้านวุฒิสมาชิกมาร์โค รูบิโอ จากรัฐฟลอริดา สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ ทวีตว่า ข่าวใหญ่ที่ไม่มีการรายงาน คือมีกลุ่มอันธพาลผู้ก่อการร้าย อย่าง แอนติฟา และบูกาลู (Boogaloo) ที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในรัฐต่าง ๆ ในขณะนี้ กลุ่มดังกล่าวฉกฉวยโอกาสจากความเกลียดชังระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจและรัฐบาลเพื่อสร้างความวุ่นวาย
ทั้งนี้ การเสียชีวิตของนายฟลอยด์ได้กลายเป็นข่าวโด่งดังในโลกโซเชียล โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(25 พ.ค.) พนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ หลังสงสัยว่านายฟลอยด์พยายามจะซื้อของในร้านด้วยธนบัตรปลอม และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ ก็ได้จับนายฟลอยด์ใส่กุญแจมือ และผลักเขาให้นอนคว่ำลงกับพื้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งใช้เข่ากดลงบนคอของนายฟลอยด์และทิ้งน้ำหนักตัวลงไป ซึ่งขณะนั้นนายฟลอยด์พยายามร้องบอกตำรวจว่า "ผมหายใจไม่ออก ได้โปรด ผมหายใจไม่ออก" ก่อนที่เขาจะหมดสติไป และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยรายงานระบุว่า นายฟลอยด์ได้เสียชีวิตก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล
คลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกดเข่าลงบนคอของนายฟลอยด์จนเขาหมดสตินั้น ได้กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วบนโลกโซเชียล โดยก่อให้เกิดเหตุประท้วงรุนแรงตามมาในรัฐมินเนโซตา และลุกลามไปยังเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐด้วย