สื่อนอกชี้ความท้าทายครม.ใหม่ เศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดในอาเซียน

22 ก.ค. 2563 | 00:44 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2563 | 08:24 น.

เดอะ นิคเคอิ เอเชียน รีวิว สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานนำเสนอมุมมองที่มีต่อ เศรษฐกิจไทย ท่ามกลางสภาวะ “เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนขุนพลกลางสนามรบ” ผ่านบทความ Thailand's rulers must act fast to reverse COVID-19 economic damage ที่เขียนโดยวิลเลียม พีเซค (William Pesek) สื่อมวลชนที่คร่ำหวอด ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสุดโหดและ เศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ใครจะเข้ามาเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทย หรือ โผคณะรัฐมนตรีใหม่ (ครม.) จะมีใครบ้าง จะไม่สำคัญเท่ากับการที่ไทยจะต้องปรับตัวเองให้ไว ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มไว้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด     

สื่อนอกชี้ความท้าทายครม.ใหม่ เศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดในอาเซียน

การไหลออกของรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ รวมทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนว่าเหตุผลส่วนหนึ่งจะมาจากผลการทำงาน เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ซึ่งเป็นปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนรัฐนาวามาครบ 1 ปี จะหดตัวที่ -8.1% ทำให้เป็นไปได้ที่ไทยจะกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า ในอีกแง่หนึ่ง การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ น่าจะเป็นความพยายามสร้างความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โผปรับครม.เสร็จแล้ว นายกฯไม่ตอบ "สุริยะ" นั่งรมว.พลังงาน

โผครม. สัญญาณจาก “บิ๊กป้อม” ถึง “สุริยะ”

ส่อง “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ลุงตู่ ในวัน 4 กุมารระส่ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเส้นทาง“รัฐบุรุษ”

แต่การปรับเปลี่ยนแม่ทัพเศรษฐกิจกันในช่วงเวลานี้น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า เนื่องจากจะทำให้เกิดช่วงสุญญากาศที่ไม่มีผู้กำกับดูแลสิ่งที่เป็นความท้าทายประเทศไทยมากที่สุดในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยวอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท หนี้ครัวเรือนที่ทะยานสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้แตะระดับ 0% ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในแง่นโยบายทางการเงินการคลัง

วิรไทย สันติประภพ

ที่แย่เข้าไปอีกคือปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็กำลังพบกับช่วงสุญญากาศเนื่องจากกำลังมีการสรรหาผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก นายวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่กำลังจะหมดวาระการทำงาน (สมัยที่ 2) ในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ในระหว่างที่ฝ่ายการเมืองของไทยกำลังสลับสับเปลี่ยนหาคนใหม่มาแทนคนเก่าที่ลงจากตำแหน่ง งานทั้งด้านการเงิน การคลัง และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศก็จะอยู่ในโหมดแห่งการรอคอย

 

แต่สิ่งที่ทำให้คนวิตกกังวลมากไปกว่านั้นก็คือ เกรงว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะแค่มีคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายเดิม ๆ ของรัฐบาลทหารที่ซักฟอกตัวเองเป็นรัฐบาลพลเรือนผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น

 

บทความของนิคเคอิฯ ยังระบุว่า ปัญหาที่ไทยเผชิญอยู่นั้นสาหัสเอาการ เอาแค่เรื่องคนว่างงานเป็นตัวอย่าง ตอนนี้ประเทศไทยที่มีประชากร 69 ล้านคนกำลังมีเศรษฐกิจสีเทา ๆ เพราะจากรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มากกว่าครึ่งของแรงงานไทยเป็นแรงงานในกลุ่มที่เรียกว่า “ไม่เป็นทางการ” (informal worker) หมายถึงว่าพวกเขาไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษเมื่อถึงคราวเศรษฐกิจตกต่ำ

คณะรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์นั้น ได้ทุ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 1.86 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ทรุดลง ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุดในเวลานี้ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ในความเป็นจริงดูจะมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ตัวพลเอกประยุทธ์เอง เป็นนายทหารระดับนายพลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย. 2562 แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศตั้งแต่เดือนพ.ค. 2557 หลังจากที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจคณะรัฐบาลในยุคนั้น มีการประกาศใช้กฎหมายและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ อาทิ แผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจค 45,000 ล้านดอลลาร์  โครงการประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะเพิ่มประสิทธิผลในอุตสาหกรรมและเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทย

 

แต่เมื่อมองในแง่การปฏิบัติ ความริเริ่มเหล่านี้คืบหน้าช้ามากภายใต้รัฐบาลที่เต็มไปด้วยนายทหารที่เคยชินกับการทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการยึดอำนาจมาจากผู้นำที่ทำงานได้ไม่ดีนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมแล้วก็สร้างผลงานที่เป็นชิ้นใหญ่ขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ก็สามารถทำได้ โดยระหว่างการทำรัฐประหารปี 2549 และ 2557 นั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลถึง 8 คน แต่ละคนเมื่อขึ้นมามีอำนาจก็ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าคนก่อนที่ลงจากอำนาจไป มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง และถ้าพูดถึงขนาดการชุมนุมก็ใหญ่กว่าการประท้วงในฮ่องกงด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยคณะรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ก็มีอะไรให้โชว์อยู่บ้าง มีการใช้พ.ร.บ.ที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย แต่ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ รอบข้างประเทศไทยต่างก็กำลังพยายามดึงดูดทุนที่ย้ายออกจากประเทศจีนให้เข้ามาสู่ประเทศของตัวเองแทน เช่นอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็กำลังพยายามสร้างบริษัทดาวรุ่งทางด้านเทคโนโลยี  ไทยจึงจำเป็นจะต้องทำอะไรให้มากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก

 

ในขณะที่สื่อกำลังมุ่งโฟกัสไปที่ตัวบุคคลว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ในเวลานี้ก็ทำให้ใครก็ตามที่จะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของพลเอกประยุทธ์ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ “ย่ำแย่ที่สุด” นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินขึ้นในเอเชีย

 

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือการเพิ่มความหลากหลายของโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี นั่นหมายความว่า ไทยควรจะต้องให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพในธุรกิจต่าง ๆภาคบริการ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับขั้นตอนของระบบราชการ ลดความยุ่งยากซ้ำซ้อน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงาน สร้างธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการอย่าง “แกร็บ” บริษัทฟินเทค หรือบริษัทในโลกอี-คอมเมิร์ซ   

 

นอกจากนี้ เมื่อหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆในเอเชีย เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ไทยก็จะต้องลงทุนให้มากขึ้นทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรม และต้องก้าวข้ามการเรียนแบบเดิม ๆ ไปสู่การเรียนรู้ที่เพิ่มทักษะการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ รวมทั้งทักษะในการแก้ไขปัญหา

 

สำหรับปัญหาการคอร์รัปชันในไทยนั้น ก็ยังถือเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่หนักหน่วงขึ้นนับจากปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งภายใต้การบริหารรัฐนาวาของพลเอกประยุทธ์นั้น ประเทศไทยหล่นอันดับในดัชนีภาพลักษณ์ในการคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) โดยลงมาอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลกในปีที่ผ่านมา (2562) นับเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เนื่องจากในตอนที่รัฐประหารยึดอำนาจมานั้น เหตุผลหนึ่งก็คือต้องการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดก่อน ๆ

 

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการที่จะนำเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะที่เติบโตได้ในอัตรา 2.8% ซึ่งเป็นการเติบโตก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าไทยไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง และสหรัฐอเมริกา จีน หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจทรุดหนักข้ามไปสู่ปี 2564

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปี 2563 นี้ก็ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักทำให้ยากต่อการบรรลุเป้าหมายที่จะขยับสถานะออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (ซึ่งหมายถึงประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณปีละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ไทยขณะนี้ทำได้ที่ระดับประมาณ 7,800 ดอลลาร์/คน/ปี

 

ดังนั้น ขณะที่พลเอกประยุทธ์กำลังฟอร์มทีมเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมานี้ บางทีอาจจะจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลของเขาเคยริเริ่มดำริไว้ แล้วเร่งขับเคลื่อนให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ไวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป  

 

ข้อมูลอ้างอิง

Thailand's rulers must act fast to reverse COVID-19 economic damage