วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล
โดยประธานาธิบดีเวียดนามได้กล่าวต้อนรับ และนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานจัดการประชุมได้กล่าวเปิดการประชุมฯ ซึ่งได้ย้ำเจตนารมณ์ของเวียดนามที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตามแนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนปี 2563 “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” (Cohesive and Responsive)
จากนั้นเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 (Plenary) โดยมีผู้นำและผู้แทนผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติดและอัพเดท การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 วันที่ 12 – 15 พ.ย. 63
ประชุมสุดยอดอาเซียน ผู้นำเตรียมเซ็นรับรองเอกสาร 6 ฉบับ
นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำวัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง เสริมสร้างความร่วมมือและติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียนในการรับมือกับผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนเพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือกับภาคีภายนอกของอาเซียน และแลกเปลี่ยนทัศนะต่อสถานการณ์ อันจะเป็นโอกาสในการพัฒนาที่สำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ สรุปสาระสำคัญว่า สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงข้อคิดเห็นและเสนอทิศทางขับเคลื่อนกลไกของอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของอาเซียนจะทำให้อาเซียนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ร่วมกัน การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบจากโควิด-19 ยังเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนที่อาเซียนต้องร่วมมือกัน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอ 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การร่วมเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน เพื่อให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ ไทยได้ร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีนกับภาคส่วนต่าง ๆ และพร้อมแบ่งปันไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน เพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนในภูมิภาคของเราในอนาคต ไทยยินดีสนับสนุนคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และพร้อมสมทบเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตลอดจนพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่
2. ส่งเสริมแนวทางการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แบบบูรณาการ ภูมิภาคของเราจะฟื้นตัวและปรับตัวกับความปกติใหม่ New Normal พร้อมร่วมรับรองกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อาทิ SMEs เนื่องจากเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค และสนับสนุนการจัดทำกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน
3. เสนอให้อาเซียนควรเตรียมความพร้อมในระยะยาวเพื่อยืนหยัดและต้านทานต่อความท้าทายใหม่ ๆ สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ผ่านการบูรณาการระดับภูมิภาค และส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการค้าดิจิทัลในอาเซียนอย่างครบวงจร การสานต่อการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ และผลักดันการใช้โมเดลเศรษฐกิจ การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
4. อาเซียนต้องร่วมมือรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าในภูมิภาคและเพิ่มพูนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย (win-win cooperation)
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทนำของเวียดนาม ประธานอาเซียนในปีนี้ ที่ได้เสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” ผ่านข้อริเริ่มต่าง ๆ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนบรูไนฯ ในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
อนึ่ง นายโอน ปวนมุนีรวต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล