ใน การประชุมสุดยอดอาเซียน+5 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะสรุป การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในวันที่15 พ.ย.นี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีเวียดนามเป็นประเทศเจ้าภาพ
สื่อต่างประเทศรายงานว่า หากผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเห็นพ้องกัน และมีการลงนามในความตกลงดังกล่าว ก็จะเป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกเกือบ 1 ใน3 และมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราว 30% ของทั้งโลก
ทั้งนี้ RCEP จะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยการปรับลดอัตราภาษี และขจัดมาตรการกีดกันทางการค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดการก่อตั้ง RCEP ได้เริ่มขึ้นในปี 2555 โดยมีการมองว่า จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จะใช้ความตกลงดังกล่าวเพื่อคานอำนาจของสหรัฐในเอเชีย-แปซิฟิก
ทางด้านอินเดียได้เข้าร่วมการเจรจา RCEP ในช่วงแรก แต่ต่อมาได้ถอนตัวออกในช่วงที่มีการประชุมสุดยอด RCEP ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2562 เนื่องจากมีความกังวลว่า RCEP อาจทำให้อินเดียมียอดขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น