สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของสื่อเวียดนาม โดยระบุความเห็นของนักวิเคราะห์ว่า นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน น่าจะมีนโยบายที่ประนีประนอมมากขึ้น และหันไปเน้นฟื้นฟูการเจรจาสนธิสัญญาการค้า ทำให้ระบบการค้าเสรีของโลก ภายใต้ข้อตกลงแบบพหุภาคี จะกลับมามีบทบาทมากขึ้น TPP (Trans-Pacific Partnership) จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญการส่งออก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ บางกลุ่มยังมองว่าไบเดน จะยังคงใช้อัตราภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์กำหนด ไว้กับจีนทำให้ความตึงเครียดทางการค้าทวิภาคีที่กำลังดำเนินอยู่มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ซึ่งหมายความว่า เวียดนามจะยังคงเป็นเป้าหมายของบริษัทต่าง ๆ ในการย้ายฐานมาลงทุน เพื่อหลีกหนีผลกระทบจากกำแพงภาษี
ทั้งนี้โจ ไบเดน แสดงท่าทีสนับสนุนที่จะนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่ Trans-Pacific Partnership -TPP ซึ่งปัจจุบันเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (the Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ซึ่งเมื่อปี 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจไม่นำ สหรัฐฯ เข้าร่วมในข้อตกลง TPP
Michael Piro ซีโอโอของบริษัทให้คำปรึกษา Indochina Capital ที่ตั้งในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า แม้ว่าโจ ไบเดนจะมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับหลายประเทศ รวมถึงเวียดนาม แต่ก็ไม่น่าจะใช้มาตรการกดดันเหมือนในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ได้จัดเวียดนามอยู่ใน "ประเทศที่ถูกจับตามองด้านการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน" หลังจากเวียดนาม เกินดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยตามรายงานของศุลกากรเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบเป็นรายปีเป็นมากกว่า 62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 1.92 ล้านล้านบาท)
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินว่าในปี 2562 สกุลเงินของเวียดนามถูกประเมินค่าต่ำกว่า ประมาณ 4.7% เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการแทรกแซงของรัฐบาลเวียดนาม และในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ มีการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเบื้องต้นสำหรับยางล้อรถของเวียดนาม เนื่องมาจากประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว
Salvatore Babones รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลียกล่าวว่า ประเด็นข้อกล่าวการแทรกแซงสกุลเงินของเวียดนาม ไม่น่าจะถูกนำมาใช้ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นอกจากนี้ เวียดนามชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองสกุลเงินและการบริหารจัดการสกุลเงินของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกใช้มาตรการตอบโต้ได้
นาย Nguyen Xuan Thanh (เหงียน ซวน ถั่น) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟุลไบรท์เวียดนาม กล่าวว่า ในแง่ของนโยบายคาดว่านโยบายเกี่ยวกับจีนน่าจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากเป็นเช่นนั้น การย้ายฐานของผู้ผลิตจากจีนไปยังเวียดนามจะดำเนินต่อไป เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ได้เริ่มกระจายความเสี่ยงโดยฐาน การผลิตและห่วงโซ่อุปทานของตนตั้งแต่เมื่อปีที่ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเวียดนามไม่ใช่ปลายทางเดียวของพวกเขาเนื่องจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มดำเนินการเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และหลายบริษัทกำลังพิจารณาที่จะกลับไปที่ฐานของตนในอเมริกาเหนือและยุโรป
สคต. ณ นครโฮจิมินห์ ให้ความเห็นว่า เวียดนามน่าจะยังเป็นฐานการผลิตและการลงทุนสำหรับสินค้าที่เน้นส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำให้เวียดนามยังคงมีความต้องการสินค้ากลุ่มวัตถุดิบการผลิต สินค้าขั้นกลาง รวมทั้ง คาดว่าภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลาย เศรษฐกิจเวียดนามจะยังเติบโตได้เป็นอย่างดี ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภค เวียดนามยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพดีเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยในการขยายตลาดในเวียดนามเพิ่มขึ้น