วันที่ 8 ม.ค. เวลา 01.27 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์พุ่งขึ้น 2,334.37 ดอลลาร์ หรือ 6.29% สู่ระดับ 39,447.62 ดอลลาร์ ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์มของ Coin Metrics หลังพุ่งแตะระดับ 40,188 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้
สื่อต่างประเทศรายงานว่า บิตคอยน์เพิ่งทำสถิติทะลุแนว 35,000 ดอลลาร์ เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ขณะที่พุ่งขึ้นมากกว่า 30% นับจากต้นปีมา หลังจากที่ทำสถิติทะยานขึ้นไป 400% ในปี 2563 มูลค่าตลาดสกุลเงินคริปโตทะยานขึ้นเหนือระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในช่วงเช้านี้ ขณะที่บิตคอยน์มีมูลค่าตลาดมากกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์จากบริษัทโซเชียล แคปิตอลคาดการณ์ว่า บิตคอยน์ยังคงสามารถพุ่งขึ้นต่อไป แม้ว่าช่วงนี้ได้ดีดตัวขึ้นมากแล้วก็ตาม "มันอาจไปถึง 100,000 ดอลลาร์ และ 150,000 ดอลลาร์ และ 200,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะใช้เวลานานเท่าใด ผมก็ไม่รู้ อาจจะ 5-10 ปี แต่มันจะไปถึงแน่"
นายนิโคลัส ปานิเกอร์โซโกล นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ในระยะยาวบิตคอยน์มีแนวโน้มทะยานขึ้นแตะระดับ 146,000 ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ทำให้บิตคอยน์มีแนวโน้มแข็งแกร่ง มาจากการที่นักลงทุนเริ่มกระจายการลงทุนด้วยการเข้าซื้อบิตคอยน์ นอกเหนือไปจากการซื้อทองคำในช่วงที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การดีดตัวของบิตคอยน์ในครั้งนี้แตกต่างจากในปี 2560 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกระแสตอบรับที่คึกคักจากกลุ่มบริษัทฟินเทค และนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด เช่น พอล ทิวดอร์ โจนส์ และสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ โดยแตกต่างจากในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย
เพย์พาล (PayPal) ยักษ์ใหญ่ฟินเทค ประกาศว่า ทางบริษัทจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการซื้อขายบิตคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ และในปีนี้ บริษัทยังมีแผนจะให้ลูกค้าใช้สกุลเงินคริปโตในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายร้านค้าปลีกจำนวน 26 ล้านแห่งของทางบริษัท
ขณะที่บริษัท สแควร์ (Square) ซึ่งเป็นฟินเทคอีกรายของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อบิตคอยน์มูลค่าถึง 50 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังได้เปิดให้บริการสกุลเงินคริปโตสำหรับลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น Cash ของทางบริษัท
นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ทำให้สกุลเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง โดยเฉพาะดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองบิตคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก อีกทั้งนักลงทุนยังมองว่า บิตคอยน์มีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะแห่เข้าซื้อในช่วงเวลาที่เกิดความตื่นตระหนก ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังใช้บิตคอยน์เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจากการที่รัฐบาลต่าง ๆ มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายออกมาเตือนว่าการทะยานขึ้นของบิตคอยน์จะสะดุดลงในปีนี้ หลังจากพุ่งขึ้นอย่างมากในปีที่แล้ว นายแมทท์ มาลีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทมิลเลอร์ ทาบัค ให้ความเห็นว่า บิตคอยน์อาจดิ่งลง 25-30% ในช่วงต้นปี 2564 นี้
"บิตคอยน์จะดีดตัวต่อไปในระยะสั้น และผมก็มั่นใจในระยะยาว แต่ในระยะกลาง ผมมีความวิตกมากกว่าคนอื่น" เขากล่าวด้วยว่า บิตคอยน์จะได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องในตลาดที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยทางเทคนิคบ่งชี้ว่า บิตคอยน์ได้เข้าสู่ภาวะที่มีแรงซื้อมากเกินไป และเริ่มมีภาวะฟองสบู่ ส่งผลให้บิตคอยน์จะเผชิญกับการปรับฐาน
นายมาลีย์กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2559 บิตคอยน์ได้พบกับการดิ่งลง 20% ถึง 10 ครั้ง, ร่วงลง 30% จำนวน 7 ครั้ง และ 48% จำนวน 4 ครั้ง ซึ่งนักลงทุนไม่ควรประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไปเกี่ยวกับการปรับตัวที่ผันผวนของบิตคอยน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"บิตคอยน์" นิวไฮทะลุ 34000 ดอลลาร์ แรงซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่